“ศน. กับความภาคภูมิใจในการทำงานสนองพระราชดำริ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี”
ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานกรรมการบริหารศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี บอกเล่าถึงโอกาสและความภาคภูมิใจของตนเองและนักวิจัยนาโนเทค ทำงานสนองพระราชดำริของ “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี”
จุดเริ่มต้นของความภูมิใจ
ศ.ดร.ไพรัช กล่าวว่า เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่ง “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” เสด็จพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ซึ่งตนเองในฐานะอธิการบดีก็ได้ถวายการต้อนรับ ด้วยความที่พระองค์ท่านทรงเป็นนักวิชาการ ก็จะตรัสถามถึงเรื่องวิชาการต่างๆ
“ครั้งหนึ่ง พระองค์ท่านทรงถามถึงเรื่องของข้อมูลที่ทรงสนพระทัยซึ่งทรงค้นคว้าหาข้อมูลในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่หลากหลาย และในขณะนั้นเป็นช่วงที่เริ่มมีอินเทอร์เน็ต ผมก็กราบทูลให้พระองค์ท่านทรงทราบเรื่องอินเทอร์เน็ต จนกลายเป็นจุดเริ่มที่ผมได้มีโอกาสเข้าเฝ้าถวายงาน”
ต่อมา เมื่อครั้ง ศ.ดร.ไพรัชดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และมีการจัดงานประชุมวิชาการก็กราบบังคมทูลเชิญท่านเสด็จเปิดงานและทอดพระเนตรกิจกรรม จนกระทั่งได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พระองค์ท่านก็ยังมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เสด็จเปิดงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. และตอนดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (อว. ในปัจจุบัน) ก็ยังเสด็จงานของมหกรรมวิทยาศาสตร์ของกระทรวงอีกด้วย นับว่า ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ท่านเป็นอย่างสูง พระองค์ท่านทรงสนพระทัย และพสกนิกรไทยทั้งหลายที่ติดตามพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านอยู่แล้วก็ได้รู้จักงานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และหน่วยงานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
ตั้งแต่อยู่เนคเทค เราเริ่มคิดว่า งานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศน่าสนใจ เพราะตอนนั้นมีเรื่องของอินเทอร์เน็ตที่กำลังเข้ามา ส่วนโทรศัพท์ก็เป็นเพียงโทรศัพท์บ้าน ยังไม่มีโทรศัพท์มือถือ จะใช้โทรศัพท์ก็มีแต่คนในกรุงเทพและ คนในเมืองใหญ่เท่านั้นที่มีโอกาสได้ใช้ แต่คนที่อยู่ในพื้นที่ชนบทหรือคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลไม่มีโอกาสเลย ซึ่งเมื่ออินเทอร์เน็ตเข้ามาสักระยะหนึ่งบรรดานักวิจัยคิดกันว่า จะยิ่งทำให้คนที่ด้อยโอกาส ด้อยโอกาสลงไปอีกไหม เลยไปกราบทูลพระองค์ท่าน และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯให้จัดตั้ง”โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี”ซึ่งภายหลังทรงเปลี่ยนไปเป็น “มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” ทั้งหน่วยงานของรัฐ และผู้มีจิตศรัทธาในพระองค์ท่านได้ถวายเงินสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน
พระองค์ท่านทรงโปรดเกล้าฯให้มูลนิธินี้ทำงานใน 4 เรื่องเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส คือ กลุ่มที่หนึ่ง เด็กและโรงเรียนในชนบทและพื้นที่ห่างไกล ที่จะเพิ่มโอกาสในการใช้คอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์มือ 1 หรือมือ 2 ตามแต่สถานการณ์ของโรงเรียน ต่อมาทรงรับสั่งให้ไปดูกลุ่มที่สอง เด็กป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาลที่ไม่ได้เรียนหนังสือและเกิดความเบื่อหน่าย จึงมีพระราชดำริอยากให้เอาเกมไปให้เล่น โดยผสมผสานกับการสอนหนังสือเพื่อให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้ เมื่อเด็กหายป่วยก็จะสามารถกลับไปเรียนหนังสือได้โดยไม่มีการขาดช่วงในการศึกษา
กลุ่มที่สาม ผู้ต้องขังในทัณฑสถานทั้งชายและหญิง โดยมีรับสั่งว่า หากไม่เอาไอทีหรือคอมพิวเตอร์ไปสอน เมื่อเขาพ้นโทษออกมาจะขาดโอกาสในการทำมาหากินเพื่อดำรงชีพ เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนไป มูลนิธินี้จึงเข้าไปสอนโดยผู้ชายจะเป็นการซ่อมฮาร์ดแวร์ ส่วนผู้หญิงจะหัดเขียนโปรแกรม ที่เกี่ยวกับการทำเมนู ทำบัตรอวยพรเป็นต้น
กลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มคนพิการ ทั้งกลุ่มที่พิการโดยกำเนิด และกลุ่มที่เกิดมาแล้วพิการอาจจะด้วยอุบัติเหตุ หรือจากการทำหน้าที่รับใช้บ้านเมือง เป็นต้น ทางมูลนิธิก็เข้าไปดูแลหลายกรณี เช่น เด็กพิการไม่มีแขนและขา แต่สามารถใช้วีลแชร์เคลื่อนที่ไปไหนมาไหนได้ สามารถใช้คอมพิวเตอร์ทำงานได้ หรืออีกหลายกรณี ซึ่งส่วนใหญ่พระองค์ท่านจะรับสั่งให้ไปดูแลว่า ครอบครัวทำมาหากินได้ไหม ตัวเด็กมีความแข็งแรงไหม พัฒนาการเป็นอย่างไร จากนั้นก็ให้เข้าโรงเรียน เรียนหนังสือ ทำให้สามารถประกอบอาชีพได้
ในช่วงเริ่มต้นจะมุ่งเน้นไปที่ด้านผู้ด้อยโอกาสและด้านการศึกษา แต่ภายหลังก็ขยายงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยอาศัยความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศ อาทิ The Deutsches Elektronen-Synchrotron (DESY) ในเมืองฮัมบวร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ที่ทำงานด้านเครื่องเร่งอนุภาค สภาวิจัยนิวเคลียร์ยุโรปหรือ Conseil Européen pour la Recherche Nucléaire (European Council for Nuclear Research) หรือที่พวกเรารู้จักว่า CERN ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญวิจัยและพัฒนาทางด้านอนุภาคฟิสิกส์ บทบาทหลักของ CERN คือ การสร้างเครื่องเร่งอนุภาคและโครงสร้างอื่นที่จำเป็นต่อการวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาค รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี และสาธารณรัฐสิงคโปร์ ที่เป็นการทำงานเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
นอกจากนี้ ยังมีประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว ที่มูลนิธิได้เข้าไปสนับสนุนด้านห้องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ห้องทดลองวิทยาศาสตร์พร้อมอุปกรณ์ในโรงเรียน และกัมพูชาที่ได้พระราชทานคอมพิวเตอร์ และสนับสนุนด้านเซลล์แสงอาทิตย์ให้กับสถาบันอุดมศึกษา
นาโนเทคกับโครงการตามพระราชดำริฯ
โครงการตามพระราชดำริฯมีหลายหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการดำเนินงานของตนเองอยู่แล้ว ก็โปรดเกล้าฯให้ใช้ความชำนาญและบุคลากรทำงานถวาย นาโนเทคร่วมดำเนินโครงการในพระราชดำริฯด้วยกันอยู่ 3 โครงการ ได้แก่
ภาคีวิศวกรรมชีวการแพทย์ (Biomedical Engineering)
เมื่อครั้งปี 2548 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงให้ความสนพระทัยเรื่องชีวการแพทย์ ท่านได้เสด็จพระราชดำเนินในการประชุมวิชาการ “Thai-US Symposium on International Development of Thai BME” ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จากนั้นก็โปรดเกล้าฯให้จัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย มี สวทช. โดยนาโนเทคตอนเริ่มต้นต่อมาก็มี ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) และ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีเข้าร่วมดำเนินงานกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยที่มีภารกิจและบทบาททางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ ปัจจุบันมีหน่วยงานที่ร่วมเป็นภาคีแล้ว 26 หน่วยงาน
ในระยะแรกภาคีนี้เน้นการพัฒนากำลังคนมีหลักสูตรทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์แล้ว จำนวน 32 หลักสูตร จาก 13 มหาวิทยาลัย ผลิตนักศึกษาทั้งปริญญาตรี-โท-เอกแล้วจำนวน 2,398 คน และมีการสนับสนุนรัฐบาลกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในขณะนั้น โดยจัดสรรทุนวิจัย จำนวน 112 คน กลับมาแล้ว 41 คน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อทำงานในเชิงวิชาการ และพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งคน พัฒนาองค์ความรู้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ
ในระยะต่อมาตั้งแต่ปี 2560 เริ่มเข้าสู่ BME2.0 เน้นการผลักดันผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ โดยให้เด็กที่ผ่านการประกวดผลงานด้านการออกแบบนวัตกรรมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ และผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุในงานประชุมวิชาการนานาชาติเรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (i-CREATe) กับนานาชาติ A-MED สวทช. เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการประสานจัดงานฝ่ายไทย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเข้าร่วมงานเป็นประจำทุกปีจนปัจจุบันรวม 13 ปีแล้ว จากนั้นพัฒนาสิ่งประดิษฐ์เหล่านั้นให้สามารถต่อยอดเป็นนวัตกรรมออกสู่ผู้ใช้งานในรูปของสตาร์ทอัพ โดยมี ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. เป็นพี่เลี้ยง
โครงการความร่วมมือด้านนาโนเทคโนโลยีกับต่างประเทศ
พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อสร้างความร่วมมือในด้านต่าง ๆ รวมทั้ง ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยม Chinese Academy of Science (CAS) หลายครั้ง ในปี 2556 พระองค์ท่านได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง ศูนย์นาโนศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติของจีน (National Center for Nanoscience and Technology (NCNST), Chinese Academy of Science (CAS)) ขยายความร่วมมือทางด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้สร้างความก้าวหน้าทางด้านนาโนเทคโนโลยีของไทยอย่างต่อเนื่อง
“พระองค์ท่านทรงชมตลอดว่า ความร่วมมือระหว่างนาโนเทค สวทช. และศูนย์นาโนศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติของจีน ผ่านการสร้างที่ปรึกษาร่วม (co-supervisor) กับนักศึกษาปริญญาเอก ทำให้เกิดความก้าวหน้า เกิดผลลัพธ์อย่างต่อเนื่อง และอยากให้ นาโนเทคทำงานแบบนี้ต่อไป เพราะได้ประโยชน์ทั้งในเรื่องของการพัฒนากำลังคน และงานวิจัย” ศ.ดร.ไพรัชกล่าว และเพิ่มเติมว่า ท่านยังได้ทรงแนะนำเรื่องของหัวข้อโครงการร่วมวิจัย โดยให้พิจารณาโจทย์ที่ 2 ประเทศสนใจร่วมกัน เพื่อให้ปลายทางเกิดผลที่จะเป็นประโยชน์ทั้งกับจีนและไทย
นอกจากนี้ การขยายความร่วมมือกับต่างประเทศที่นาโนเทคได้ทำงานถวาย คือ การสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยซุงกุนกวาน สาธารณรัฐเกาหลี โดยในปี 2556 พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินมหาวิทยาลัยซุงกุนกวานเพื่อทรงศึกษาการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยซุงกุนกวาน และบริษัทซัมซุง พร้อมทั้งเสด็จพระราชดำเนินอาคารพลังงานวิทยาศาสตร์ และทอดพระเนตรห้องปฏิบัติการไมโครสโคปอิเล็กตรอนแบบผ่าน (transmission electron microscope) และห้องปฏิบัติการกราฟีน ต่อมาทรงมีพระราชกระแสให้สร้างความร่วมมือด้านนาโนเทคโนโลยีกับมหาวิทยาลัยซุงกุนกวาน สาธารณรัฐเกาหลี
การขยายความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่วนใหญ่จะเริ่มจากการพัฒนากำลังคน นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ท่านที่มหาวิทยาลัยซุงกุนกวานได้ทูลเกล้าทุนการศึกษาในระดับปริญญาเอกจำนวน 5 ทุน และทุนวิจัยหลังปริญญาเอก จำนวน 5 ทุน ในสาขานาโนเทคโนโลยี ตั้งแต่ปี 2558-2561 โดยนาโนเทคมีส่วนในการดำเนินการคัดเลือกนักวิจัยหลังปริญญาเอกจำนวนหนึ่งเพื่อทรงคัดเลือกในขั้นตอนสุดท้าย ตอนนี้นักศึกษาปริญญาเอกบางคนก็จบการศึกษาแล้ว ส่วนนักวิจัยหลังปริญญาเอกก็กลับมาปฏิบัติงานที่มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยกันแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังมีการสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยซุงกุนกวานผ่านนักวิจัยหลังปริญญาเอกทั้งการพัฒนาผลงานวิชาการ และการประชุมทางวิชาการร่วมกัน
งานด้านพัฒนาคุณภาพน้ำในพื้นที่ห่างไกล
นอกจากนี้ ศ.ดร.ไพรัชเล่าถึงโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเทพภูเงิน ตำบลน้ำโสม อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี ซึ่งพระองค์ท่านรับสั่งเมื่อครั้งเข้าเฝ้าทูลเกล้าถวายรายงานประจำปีว่า ครูและนักเรียนที่นี่ต้องซื้อน้ำบรรจุขวดมาดื่ม พระองค์ท่านทรงใส่พระทัยว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น คุณภาพน้ำไม่ดีพอที่จะดื่มหรือ ทางมูลนิธิ จึงลงพื้นที่ร่วมกับนาโนเทคและหน่วยงานอื่นๆของทางราชการก็พบว่า ชาวบ้านนิยมปลูกต้นยางพารา ซึ่งอยู่บนพื้นที่ลาดเอียง มีการใช้ยาฆ่าหญ้าระหว่างร่องต้นยางพารา เมื่อฝนตกก็เกิดการชะสารเคมีเหล่านั้นลงสู่แหล่งน้ำ เกิดการปนเปื้อนในน้ำดิบ โดยผมทราบว่า นาโนเทคมีนักวิจัยอย่าง ดร.จามร เชวงกิจวณิช และดร.ณัฏฐพร พิมพะ ที่ทำงานวิจัยพัฒนาคุณภาพด้านน้ำ และก็เริ่มหาพันธมิตรอย่างการประปาส่วนภูมิภาค กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมอนามัย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรในการพัฒนาคุณภาพน้ำเพื่อโรงเรียน และชุมชนในพื้นที่ห่างไกล แต่ทางการประปาส่วนภูมิภาคแม้นจะมิได้รับผิดชอบโดยตรงในพื้นที่เหล่านี้ก็ให้ความช่วยเหลือถวายงานด้วยกัน
นาโนเทค และกรมอนามัยได้ไปตรวจวัดสิ่งปนเปื้อนน้ำผิวดิน น้ำดื่ม และน้ำฝนจากถังเก็บของโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ทำงานร่วมกับพันธมิตรนำเครื่องกรองไปใช้ในโรงเรียน และทำถังเก็บน้ำฝนโดยหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาในระยะเร่งด่วน ที่สำคัญต้องชมกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เข้ามาร่วมสนองพระราชดำริช่วยเจาะน้ำบาดาล สร้างหอถังสูง สร้างบ้านน้ำดื่ม เพื่อการผลิตน้ำอุปโภคและบริโภคสำหรับโรงเรียนและชุมชนโดยรอบโดยอาศัยองค์ความรู้จากนาโนเทค
“โดยในการทำงานก็ได้ไปชวนพันธมิตร เช่น หน่วยงานในพื้นที่มาร่วม รวมถึงศูนย์แห่งชาติอื่นอย่าง ไบโอเทค มาร่วมโครงการสมุนไพรรักษ์น้ำ โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ โดย ดร.เฉลิมพล เกิดมณี นักวิจัยไบโอเทคได้ลงพื้นที่และแนะนำให้ปลูกขมิ้นชันระหว่างร่องสวนยาง หญ้าไม่ขึ้น ไม่ต้องใช้ยาฆ่าหญ้า ขมิ้นชันก็สามารถขายสร้างรายได้อีกด้วย ซึ่งปัจจุบัน และต่อมา ดร.ประเดิม วณิชชนานันท์ นักวิจัยไบโอเทคมารับช่วงต่อ” ศ.ดร.ไพรัชกล่าว
ประโยชน์ราษฎรเป็นสำคัญ
ภารกิจงานหรือโครงการในพระราชดำริ ฯ นั้นศ.ดร.ไพรัช ชี้ว่า กลยุทธ์หลัก คือ จะสนับสนุนให้หน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่อยู่แล้วดำเนินการตามความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงานให้เข้าไปช่วยกันทำงานถวาย ไม่จำกัดหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ซึ่ง นาโนเทค สวทช. เองก็มีผลงานและความเชี่ยวชาญหลากหลายด้าน รวมถึงด้านชีวการแพทย์เช่นกัน
“โจทย์ของพระองค์ท่านจะเน้นที่ประโยชน์ของราษฎร” ศ.ดร.ไพรัชย้ำ พร้อมชี้ว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ด้อยโอกาสที่เทคโนโลยีจะเข้าไปช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตในมิติต่างๆ โดยมูลนิธิ ก็จะเข้าไปแก้ไขและสนับสนุนภารกิจเหล่านั้นเป็นตัวอย่าง
แน่นอนว่า ประโยชน์เกิดกับผู้ที่เดือดร้อน ในขณะเดียวกัน นักวิจัยก็ได้ประโยชน์ เนื่องจากเราทำงานเพื่อประเทศชาติ นอกเหนือจากงานที่ตีพิมพ์แล้ว ก็ยังสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ที่สำคัญนักวิจัยก็สามารถเติบโตไปด้วยทั้งเรื่องของความเชี่ยวชาญและอาชีพการงาน
“เทคโนโลยีไม่จำเป็นต้องลึกลับซับซ้อน หรือล้ำหน้าใครๆ สิ่งสำคัญคือ ประชาชนได้ประโยชน์อะไร” ศ.ดร.ไพรัชกล่าว
สิ่งสำคัญคือ ความพยายามในการผลักดันนวัตกรรมไทยไปสู่ผู้ใช้ เพราะคนยังเชื่อมั่นในเทคโนโลยีต่างประเทศ เราจึงจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนวัตกรรมไทย พัฒนาผลิตภัณฑ์หรือผลงานให้ได้มาตรฐาน เพิ่มโอกาสผลงานของไทยได้ใช้งานจริง ซึ่งนาโนเทคเองก็เดินทางมาแนวนี้ตลอด ทั้งเรื่องการวิจัยและพัฒนา การพัฒนากำลังคน การความร่วมมือกับภาคเอกชน และการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์
ซึ่งโอกาสก็สำคัญสำหรับคนกลุ่มที่เรียกว่า คนด้อยโอกาส ศ.ดร.ไพรัชย้ำว่า สิ่งที่โปรดเกล้าฯให้ดำเนินงานคือ การปิดช่องว่างสังคม เพราะแม้ช่วงเวลาจะผ่านไป โลกพัฒนา ประเทศไทยพัฒนา พื้นที่ชายแดน ชายขอบก็ยังคงขาดแคลนเมื่อเทียบกับคนในเมือง ซึ่งต้องการการสนับสนุนให้เขาได้มีโอกาสพัฒนาตัวเขาทั้งด้านการศึกษาและสาธารณสุข
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีคุณูปการในการสนับสนุนงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ผ่านมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อช่วยเหลือกลุ่มสังคมผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส และงานด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่ห่างไกล นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้