วิถีชุมชนยั่งยืน ตอบโจทย์แนวคิดเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน NANOTEC Newsletter ฉบับนี้ขอพาไปทำความรู้จักนวัตกรรมเยาวชนอย่าง “เครื่องเก็บขยะในทะเล” ผลผลิตจากโครงการลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้า ที่นาโนเทค สวทช. เราจับมือกับโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยที่มาพร้อมกับแนวคิดใหม่ ที่ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์มลภาวะในปัจจุบัน
“เครื่องเก็บขยะในทะเล” เป็น 1 ในความก้าวหน้าและศักยภาพของ ทีมเยาวชนไทยในการสร้างสรรค์ พัฒนา และส่งต่อสู่การใช้ประโยชน์จริงในพื้นที่ ภายใต้โครงการนวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก ซึ่งเป็นการประกวดนวัตกรรมระดับเยาวชนจากการคิดค้น สร้างสรรค์ และพัฒนาผลงานนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม โดยสามารถต่อยอดเป็นผลงานต้นแบบสู่การใช้ประโยชน์ในระดับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่มีทีมวิจัยนาโนเทค สวทช. ทั้งในด้านการเป็นวิทยากร นักวิจัยพี่เลี้ยง คณะกรรมการ และทีมที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนาและต่อยอดต้นแบบเพื่อนำไปใช้ได้จริงในชุมชน
นายเกียรติศักดิ์ เส้งพัฒน์ ครูชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ในฐานะครูพี่เลี้ยง กล่าวว่า นวัตกรรมนี้เป็นการพัฒนาเพื่อการใช้งานในพื้นที่จริง จากต้นแบบคือ “เครื่องเก็บขยะในทะเลโดยใช้เทคโนโลยีนาโน” (Nano Ocean Bin) คือ ทุ่นลอยระดับผิวน้ำ ซึ่งสามารถกักเก็บขยะลอย เช่นพลาสติก กล่องโฟม เป็นต้น โดยมีหลักการทำงานคือ ใช้สายพานดึงเศษขยะเข้ามาสู่ถังขยะ และที่สำคัญคือมีการนำเทคโนโลยีนาโนมาช่วย ได้แก่ การเคลือบผิวด้วยอนุภาคนาโน” (Nanoparticle Surface Coating) ของโซล่าเซลล์และวัสดุ เพื่อป้องกันสนิมและมีประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้น มาสู่การพัฒนาต่อยอด โดยการขยายสเกลให้มีขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น นำระบบ Image Processing ระบบการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมจากกระแสน้ำโดยความร่วมมือและการศึกษาปัญหาจากชุมชน นวัตกรและการให้คำปรึกษาแนะนำจากคณะนักวิจัยจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
โดยจุดเด่นของเครื่องเก็บขยะในทะเลนี้ ประกอบด้วย ฟังก์ชั่นการเก็บขยะลอยในลำคลองก่อนออกสู่ทะเล โดยใช้เทคนิคใช้ระบบควบคุมการเก็บขยะโดยใช้ระบบเทคโนโลยีกล้อง Image Processing ในการตรวจจับและแยกแยะชนิดขยะสามารถแสดงผลและสั่งการเก็บขยะอัตโนมัติ, มีระบบแขนโอบล้อมขยะเข้าสู่สายพานทำให้มีประสิทธิภาพในการกักเก็บสูง, มีระบบการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมจากกระแสน้ำทำให้สามารถกักเก็บพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น โดยใช้ระบบไฟฟ้าทั้งหมดในกระบวนการโดยไม่ใช้พลังงานจากประเภทฟอสซิลทำให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปริมาณขยะในทะเล ช่วยปกป้องสัตว์ทะเลและมนุษย์ ที่สำคัญ ตรงกับปัญหาและความต้องการของชุมชน
“ทีมพัฒนาทั้งนักศึกษาและอาจารย์พี่เลี้ยงต่างทุ่มเทเต็มกำลัง เราได้ทำการทดสอบพบว่า สามารถเก็บขยะมีประสิทธิภาพร้อยละ 80 โดยต้องมีส่วนปรับปรุงเพิ่มเติมก่อนใช้งานในชุมชนระยะยาว คือ การ ปรับความสมดุลของเรือเพิ่มเติม, การเพิ่มระบบการกักและกวาดต้อนขยะให้เข้าสู่สายพานหลักได้ 100% โดยเพิ่มกลไกกวักขยะแนวนอนเพิ่มเติม รวมถึงการปรับการติดตั้งนวัตกรรมให้สอดคล้องกับสภาพทั่วไปของน้ำขึ้นน้ำลง โดยใช้ระบบการยึดแบบโป๊ะลอยน้ำ เพื่อป้องกันพื้นเรือติดโคลนตมอีกด้วย” นายเกียรติศักดิ์กล่าว
ปัจจุบัน เครื่องเก็บขยะในทะเลได้ทดสอบใช้งานในพื้นที่ตำบลบางโพธิ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
“ชุมชนในบางมีทั้งหมด 6 ตำบล และมีแม่น้ำลำคลองไหลผ่านหลายสาย ซึ่งเมื่อเอ่ยถึงปัญหาขยะในชุมชนนั้น เราเป็นชุมชนเมืองกึ่งชนบท มีวิถีชีวิตแบบพื้นเมือง พื้นถิ่น ปัญหาขยะยังไม่มากพอที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจะลงทุนเรื่องของการจัดซื้อรถขยะและการจ้างพนักงาน ซึ่งมีต้นทุนที่สูง และสภาพพื้นที่ที่อยู่ใกล้อ่าวบ้านดอน การดำเนินการจัดวางถังขยะก็เป็นไปได้ยาก เพราะหากมีน้ำทะเลหนุน จะทำให้ถังขยะจะลอยเกลื่อน สร้างปัญหา ปัจจุบัน อยู่ระหว่างพิจารณาการจ้างบริษัทเอกชนที่จะทำหน้าที่จัดเก็บขยะ และรวบรวมขยะ ซึ่งคาดว่าจะใช้วิธีที่ อบต. ใช้อยู่ปัจจุบันคือ การกำหนดจุดสำหรับจัดเก็บรวบรวมขยะ โดยให้ประชาชนเก็บรวบรวมขยะ โดยใช้ถุงดำหรือถุงขยะที่ผูกปากถุงให้แน่นหนา นำไปวางไว้ก่อนวันที่กำหนดให้มีการจัดเก็บขยะ โดยมีการใช้ตะแกรงเหล็กเป็นจุดทิ้งขยะ เพื่อป้องกันสุนัขหรือตัวเงินตัวทองมาคุ้ยเขี่ย สร้างความสกปรก
พื้นที่อีกส่วนหนึ่งในชุมชนที่อยู่ติดกับแม่น้ำลำคลอง ตั้งแต่เทศบาลเมืองท่าข้าม และตำบลต่างๆ ของอำเภอพุนพินที่เป็นพื้นที่ต้นน้ำ บางครั้งก็มีการพาขยะต่างๆ ลงมาในแหล่งน้ำ ซึ่งชุมชนของตนเองนั้น อยู่ใกล้กับอ่าวบ้านดอน เป็นหน่วยที่ได้รับผลกระทบจากขยะที่มาจากพื้นที่ต้นน้ำ ดังนั้น หากมีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่สามารถเก็บขยะในน้ำมาได้ ก็จะช่วยแก้ปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมในชุมชนได้มาก” นายไพศาล กระสินธุ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางโพธิ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานีกล่าว
เขาชี้ว่า เดิมที เรารณรงค์การคัดแยกขยะมาตั้งแต่ต้นทาง คือ ที่ตำบลเรายังไม่ได้มีการเก็บผล แต่เรารณรงค์ให้ทุกบ้านทำถังขยะเปียกในการกำจัดขยะเศษอาหารที่ทุกบ้านต้องทิ้ง โดยแยกเศษอาหารที่สามารถนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์หรือปุ๋ยใส่ต้นไม้ต่อได้ และหากไม่สามารถนำไปใช้ต่อได้ ก็จะนำไปทิ้งเป็นขยะเปียกต่อไป ส่วนขยะพลาสติกต่างๆ ก็จะมีระบบธนาคารขยะที่มีอยู่ในแต่ละหมู่บ้านที่คอยรวบรวมขวดพลาสติกต่างๆ ที่สามารถขายได้ และมี สภาเยาวชน ช่วยกันจัดทำถุงใส่ขวดน้ำพลาสติก สำหรับให้แต่ละครัวเรือนเก็บรวบรวมไว้ที่บ้าน
โดยในท้องถิ่นนั้น มีการรณรงค์กันตั้งแต่ต้นทางคือ ระดับครัวเรือนแล้ว เพื่อให้มีขยะน้อยที่สุด แต่ในส่วนของขยะที่มีคนทิ้งลงมาในแหล่งน้ำ ก็จะมีจุดสกัดกั้นขยะ ที่เป็นไม้หรือตาข่าย เช่น บริเวณใต้สะพานคลองพุนพิน เราก็จะมีตาข่ายสำหรับกั้นขยะ เมื่อเวลาน้ำลง เศษไม้ เศษขยะที่ย่อยสลายได้ เราก็จะปล่อยไปตามน้ำ แต่ขยะพลาสติกหรืออื่นๆ ที่ย่อยสายไม่ได้ เราก็จะเก็บขึ้นมารวบรวมไว้
“สำหรับนวัตกรรมเครื่องเก็บขยะฯ นี้ ถ้าเปรียบกับเครื่องมือทางประมง มันเหมือนกับโพงพาง ซึ่งเป็นเครื่องมือที่เหมือนเสือนอนกิน โดยหากเราหาทำเลที่เหมาะสม มาติดตั้งเครื่องฯ เอาไว้ คอยดักขยะที่ไหลมาตามน้ำ เราอาจช่วยหาอุปกรณ์เสริมมาช่วยดักขยะให้ลอยเข้ามาในจุดที่ติดตั้ง เครื่องก็จะทำงานเองได้ รวมถึงอาจจะต้องดูภาชนะที่บรรจุ ที่อาจต้องก็บรวบรวมได้เยอะกว่านี้ และเอาขึ้นฝั่งได้ง่าย คาดว่าจะเกิดประโยชน์และลดขยะที่ลอยอยู่ในแม่น้ำได้พอสมควร” นายก อบต.บางโพธิ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานีกล่าว