ระบบนำส่งระดับนาโนของวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) สำหรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
งานวิจัยร่วม นาโนเทค-NCNST รับทุน CAS-NSTDA Joint Research Program 2021
นักวิจัยนาโนเทค สวทช. จับมือสถาบัน NCNST สาธารณรัฐประชาชนจีน รับทุน CAS-NSTDA Joint Research Program 2021 เพื่อพัฒนาระบบนำส่งระดับนาโนของวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ป้องกันโรคโควิด-19 วางเป้าหมายสร้างนวัตกรรมที่เป็นเครื่องมือรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการฉีดวัคซีนสำหรับทุกคน พร้อมปูทางประยุกต์นำส่งวคซีน ยา รวมถึงการรักษาอื่นได้ในอนาคต
ดร.คทาวุธ นามดี (นักวิจัยหลักฝ่ายไทย) และดร. มัตถกา คงขาว (ผู้ร่วมโครงการ) จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโปรแกรมความร่วมมือวิจัยระหว่างประเทศ สวทช. ภายใต้โครงการทุน CAS-NSTDA Joint Research Project 2021 เพื่อปฏิบัติงานวิจัยร่วมกับ Prof. Dr. Xing-Jie Liang (นักวิจัยหลักฝ่ายจีน) Laboratory of Controllable Nanopharmaceuticals สถาบัน National Center for Nanoscience and Technology (NCNST) สาธารณรัฐประชาชนจีน ในหัวข้อ “The novel nanoscale delivery mRNA system for SARS-CoV-2 vaccine prevention and treatment” จำนวน 2,720,000 บาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี
“เราทำโครงการวิจัยร่วมกับสถาบัน National Center for Nanoscience and Technology (NCNST) สาธารณรัฐประชาชนจีนอยู่แล้ว ในเรื่องของระบบนำส่ง รวมถึงมีความร่วมมือ การเยี่ยมชม ศน. การอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) รวมถึงการจับคู่ความร่วมมือต่างๆ (Matching) ทำให้เกิดการต่อยอดความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับโครงการวิจัยในหัวข้อ The novel nanoscale delivery mRNA system for SARS-CoV-2 vaccine prevention and treatment ที่ได้รับทุน CAS-NSTDA Joint Research Project 2021 นี้” ดร.คทาวุธกล่าว
จุดเด่นของงานวิจัยนี้ คือ การพัฒนาระบบนำส่งระดับนาโนของวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) สำหรับการป้องกันและรักษาวัคซีน SARS-CoV-2 หรือวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้เป็นเครื่องมือรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับการฉีดวัคซีนสำหรับทุกคนทั่วโลก โดยผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ
1) ก่อให้เกิดการส่งเสริมการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ สำหรับวัคซีนต้านไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการจัดเก็บและระบบนำส่งวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ
2) พัฒนาระบบนำส่งวัคซีน SARS-CoV-2 ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยวัคซีนสามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันอย่างรวดเร็ว เพื่อปกป้องประชากรโลกโดยการลดและจำกัดการแพร่กระจายของโรคนี้ในคนและก่อให้เกิดผลข้างเคียงในระดับที่ไม่รุนแรงอย่างน้อยที่สุด ผลข้างเคียงระดับปานกลาง/รุนแรงที่อย่างน้อยที่สุด และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่น้อยลงเพื่อเป็นการช่วยชีวิตผู้คนท่ามกลางวิกฤตินี้
3) เป็นการช่วยให้เกิดการผลิตวัคซีนรูปแบบใหม่ สามารถนำไปศึกษาทางคลินิกเพื่อนำมาใช้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงที่สุด เพื่อปกป้องผู้คนจากโรคนี้ก่อนที่เราจะได้รับการสัมผัสกับไวรัสและความเสี่ยงของการเกิดสายพันธุ์ใหม่ของไวรัสดังกล่าว
4) เป็นการริเริ่มและเน้นย้ำความร่วมมือระหว่างประเทศด้านนาโนเวชภัณฑ์ระหว่างสถาบันวิจัยชั้นนำของประเทศไทยและจีน เพื่อสนับสนุนและก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ของวิทยาศาสตร์และมนุษยชาติ
“ระยะเวลาในการวิจัยพัฒนา 3 ปีของทุนนี้ จะนำไปสู่ระบบนำส่งระดับนาโนของวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) สำหรับวัคซีน SARS-CoV-2 ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีฐาน ที่ถึงแม้โรคโควิด-19 จะลดความรุนแรงลง, หมดไปจากโลก หรือมีวิธีทางเลือกอื่นๆ ที่ดียิ่งขึ้น แต่ระบบนำส่งระดับนาโนฯ ที่เราพัฒนาขึ้นจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับวัคซีน การรักษา รวมถึงยาอื่นๆ ในอนาคต โดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์นั่นเอง” นักวิจัยนาโนเทคย้ำ
สำหรับทุน CAS-NSTDA Joint Research Program 2021 เป็นความร่วมมือด้านการให้ทุนวิจัยแบบทวิภาคีระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences :CAS) สาธารณรัฐประชาชนจีน โดย สวทช. และ CAS มีความร่วมมือยาวนานอย่างต่อเนื่องทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
โดยรูปแบบของความร่วมมือ ประกอบด้วย เวทีวิทยาศาสตร์ (Science Forum) กิจกรรมการวิจัยร่วมกัน (Joint Research Activity) การประชุมเครือข่าย (Network Meeting) และห้องปฏิบัติการร่วม (Joint lab) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือให้แน่นแฟ้นขึ้น สวทช. และ CAS ได้ลงนามในเอกสารความเข้าใจ (Document of Understanding: DoU) เรื่อง กรอบงานโครงการร่วมทุน NSTDA-CAS (JFP) ในปี 2561 การสนับสนุนกิจกรรมความร่วมมือที่สำคัญภายใต้แพลตฟอร์มของห้องปฏิบัติการร่วม
ภายใต้ความคิดริเริ่มนี้ สวทช. และ CAS จะดำเนินโครงการวิจัยร่วมเพื่อสนับสนุนข้อเสนอโครงการใน 3 หัวข้อที่สนใจร่วมกัน ดังนี้:
• ความหลากหลายทางชีวภาพ เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีการเกษตร (Biodiversity, biotechnology, agricultural technology)
• วัสดุศาสตร์และเทคโนโลยี (Material science and technology)
• วิทยาการสารสนเทศและเทคโนโลยี (Information science and technology)
ซึ่ง สวทช. และ CAS สนับสนุนงบประมาณฝ่ายละ 85,000 USD ระยะเวลาโครงการ 3 ปี สำหรับแต่ละโครงการร่วม
นอกเหนือจากการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา นาโนเทค สวทช. ได้กำหนดรูปแบบการเป็นที่ปรึกษาร่วม (co-supervisor) สนับสนุนความร่วมมือด้านกำลังคนภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences :CAS) สาธารณรัฐประชาชนจีน ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยนักวิจัย นาโนเทค สวทช. เป็นที่ปรึกษาร่วม (co-supervisor) ให้กับนักศึกษาทุนรัฐบาลไทยที่กำลังศึกษาระดับปริญญาเอก ณ UCAS และมีอาจารย์ที่ปรึกษาอยู่ที่ NCNST, CAS ซึ่งในโครงการนี้ นางสาวพิรุณรัตน์ เดชบำรุง นักศึกษาปริญญาเอก UCAS ประจำปี 2562 ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ Prof. Dr. Xing-Jie Liang, NCNST จะเดินทางมาปฏิบัติงานวิจัยในโครงการที่ได้รับทุนนี้ ณ นาโนเทค สวทช. สวทช. เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ถึง 29 เมษายน 2565 ภายใต้การดูแลของ ดร.คทาวุธ นามดี (ที่ปรึกษาร่วม)