NANOSAFETY ฟันเฟืองหนุนเทคโนโลยีนาโนในภาคอุตสาหกรรม
ความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี หรือ NANOSAFETY นับเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนนาโนเทคโนโลยีไปสู่การใช้งานให้เกิดประโยชน์และได้ประสิทธิภาพ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งมีพันธกิจด้านการวิจัยและพัฒนาในเรื่องนาโนเทคโนโลยีของประเทศ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี รวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะผู้ที่ทำงาน และเกี่ยวข้องโดยตรงกับนาโนเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต ซึ่งมีความเสี่ยงในการรับสัมผัสอย่างไม่ตั้งใจสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ จึงเดินหน้าผลักดันในการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยีควบคู่กับการวิจัยและพัฒนา พร้อมสนับสนุนและเป็นพันธมิตรให้กับภาคอุตสาหกรรม ที่มีการใช้นาโนเทคโนโลยี ให้เป็นไปอย่างปลอดภัย ได้ประสิทธิภาพ และมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ
งานความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี (NSA) นาโนเทค โดย ดร.เวฬุรีย์ ทองคำ และ น.ส.จุฑารัตน์ พาพันธ์ ให้ข้อมูลว่า แผนงานด้านความปลอดภัยด้านนาโนเทคโนโลยีของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติซึ่งจะเกี่ยวข้องกับ 3 งานหลัก คือ งานความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี (NSA), กลุ่มวิจัยการวิเคราะห์ระดับนาโนขั้นสูงและความปลอดภัย (ANCS) และงานระบบคุณภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (SHE) ซึ่งประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่
- ด้านการผลักดันนโยบาย (Policy) ได้แก่ แผนยุทธศาสตร์ด้านจริยธรรมและความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี พ.ศ. 2555 – 2567 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้ร่วมกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติจัดทำขึ้น และองค์กรกำหนดมาตรฐานประเภทขั้นต้น (Standards Developing Organizations: SDOs) ซึ่งเป็นการร่วมกันทำงานกับ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) โดยดำเนินการยกร่างมาตรฐานใหม่ ที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับนาโนเทคโนโลยี ซึ่งในปี 2564 เป็นปีแรกที่ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติได้ดำเนินการ ยกร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอนุภาคนาโนกักเก็บสารสกัดกระชายดำ ซึ่งเป็นการยกร่างใหม่ภายในประเทศ โดยเริ่มจากการร่างมาตรฐานเบื้องต้นจากฝ่ายวิจัย และคณะทำงานยกร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอนุภาคนาโนกักเก็บสารสกัดสมุนไพร จากนั้นนำส่งร่างขั้นต้นให้กับงาน NSA ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะทำงานจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอนุภาคนาโนกักเก็บสารสกัดพืชสมุนไพร โดยคณะทำงานประกอบ 3 ภาคส่วนคือ ผู้ทำ ผู้ใช้ และนักวิชาการในสัดส่วนเท่าๆ กันเพื่อพิจารณาร่างร่วมกัน ก่อนส่งมอบให้กับ สมอ.เพื่อดำเนินการในการประกาศเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของประเทศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
- การวิจัยและพัฒนา (Research) โดยกลุ่มวิจัยการวิเคราะห์ระดับนาโนขั้นสูงและความปลอดภัย (ANCS) ที่ดำเนินการวิจัยและพัฒนาในด้านมาตรวิทยานาโน การวิเคราะห์ระดับนาโน การศึกษาคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์นาโน การศึกษาความปลอดภัยของวัสดุนาโนต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมด้วยหลักการทางฟิสิกส์และวิศวกรรมในการออกแบบสร้างต้นแบบสิ่งประดิษฐ์เพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังรับทำโครงการร่วมกับทางภาคเอกชนโดยการใช้เครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบทางนาโน การทดสอบทางชีวภาพ และการใช้โมเดลในการคำนวณ รวมถึงได้ทำการพัฒนามาตรฐานทางด้านนาโนเทคโนโลยีสำหรับประเทศไทย และขณะนี้กำลังพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำหรับอนุภาคนาโนชนิดต่างๆและผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากนาโนเทคโนโลยี พร้อมด้วยงานระบบคุณภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (SHE) ดูแลด้าน ISO17025 และการดำเนินการประสานกับคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
- การสร้างการรับรู้สู่สาธารณะ (Public Awareness) ได้แก่ การลงนามความร่วมมือทางวิชาการใน “โครงการพัฒนาเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม เรื่อง ความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี” ระหว่าง 9 องค์กรเครือข่ายพันธมิตร ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลักคือ กลุ่มที่สนับสนุนข้อมูลเชิงวิชาการและเทคนิค (Technical support) ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กลุ่มที่ทำหน้าที่กำกับดูแล (Regulator) ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม, สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และกลุ่มผู้ใช้ที่จะได้รับผลประโยชน์ (User) ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายขนาดใหญ่อย่างครบวงจร
นอกจากนี้ ยังมีการจัดอบรมสัมมนาสำหรับภาคอุตสาหกรรมและประชาชนอีกมาก ตัวอย่างเช่น งานล่าสุดที่เพิ่งผ่านมาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมาคือ งานสัมมนาเรื่อง “มาตรการและแนวทางการคุ้มครองแรงงานจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากวัสดุนาโนในกระบวนการผลิต” โดยจัดร่วมกับกรมโรงงาน อุตสาหกรรม และบริษัทอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย จำกัด โดยมี ดร. วรรณี ฉินศิริกุล ให้เกียรติเป็น keynote speaker และ ดร. ภาวดี อังค์วัฒนะได้ร่วมการอภิปรายแบบกลุ่มร่วมกับผู้แทนจาก 3 หน่วยงาน คือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
- การบริหารจัดการความรู้ (Knowledge Management) ได้แก่ การจัดทำ Application มอก. นาโน ที่รวมสารสนเทศเรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนาโนเทคโนโลยี ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจำนวน 7 เรื่อง เพื่อให้ผู้ที่สนใจทั้งภาคอุตสาหกรรมและประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย (Data in Hand) นอกจากนี้ ยังมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนาโนเทคโนโลยีเรื่องอื่นๆ อีกหลายเล่ม ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยผู้สนใจสามารถติดต่อสั่งซื้อได้ที่ห้องสมุด สมอ. ได้โดยตรง และยังมีเอกสารเผยแพร่แนวปฏิบัติ (Guideline) และคู่มือ (Handbook) ที่ได้ร่วมกันจัดทำกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อเผยแพร่ความรู้สู่ภาคประชาสังคมอีกด้วย
ในขณะเดียวกัน Visibility ทางด้านความปลอดภัยด้านนาโนเทคโนโลยีของนาโนเทค ในระดับสากล มีตั้งแต่บทบาทใน Asia Nano Forum ซึ่ง ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ได้รับเลือกจาก สมาชิกนานาชาติของสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งเอเชีย The Asia Nano Forum (ANF) ให้ดำรงตำแหน่งประธานบริหารสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ในขณะที่ OECD หรือ EU-Asia Dialogue ที่นาโนเทคอยู่ในฐานะผู้สังเกตการณ์ (Observer) และมีส่วนร่วมในการ input ข้อมูลและกระบวนการต่างๆ อย่างกระตือรือร้น รวมถึงมีความพยายามผลักดัน Guideline สำหรับ ISO/TC229 ซึ่งกำลังเดินหน้าไปพร้อมกับการจับมือพันธมิตรจากประเทศต่างๆ ไปด้วยกัน
“การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ควบคู่ไปกับความปลอดภัยจะส่งเสริมให้เกิดความความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี และทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน นาโนเทคโนโลยีแม้จะเป็นที่รู้จักมาระยะหนึ่งแล้วแต่ก็ยังเป็นเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และยังคงเป็นเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีความปลอดภัยควบคู่ไปด้วยเสมอ นอกจากนี้ความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี ยังเป็นส่วนสำคัญใน BCG โมเดล โดยเฉพาะเรื่องของความเป็นมิตรต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนานาโนเทคโนโลยีอย่างยั่งยืนต่อไป” ดร.เวฬุรีย์ ทองคำ ตัวแทนจากงานความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี (NSA) นาโนเทค กล่าว