เตรียมก้าวเข้าสู่ปีเสือ 2565 อย่างใจจดใจจ่อ และปีนี้ นาโนเทคหรือศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก็ก้าวสู่ปีที่ 18 เปรียบเสมือนคนรุ่นใหม่ไฟแรง ที่กระตือรือร้น เต็มที่ และพร้อมพุ่งตรงไปสู่จุดหมาย NANOTEC Newsletter ฉบับนี้ จะพาทุกคนไปร่วมฟังพี่ๆ ผู้บริหารทั้ง 4 คนของนาโนเทค คือ พี่ฉิน-ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการ, พี่หน่อง-ผศ.ดร.ธนากร โอสถจันทร์ รักษาการรองผู้อำนวยการ, พี่ใหม่-ดร.สุธี ผู้เจริญชนะชัย รองผู้อำนวยการ และพี่จูน-ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการ ที่จะมาบอกเล่า 4 กลยุทธ์นาโนเทค รวมถึงเป้าหมายและตัวชี้วัดที่สำคัญปี 2565 จากงาน NANOTEC Communication Day 2022
การเติบโตและความสำเร็จ ผลลัพธ์จากความทุ่มเทของ ศน.
ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการนาโนเทค เปิดงาน NANOTEC Communication Day 2022 ด้วยความสุขและภาคภูมิใจ พร้อมนำเสนอภาพรวมของนาโนเทคในปัจจุบัน
“เราเห็นผลงานตลอด 18 ปีที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ งาน Communication Day ขอนำเสนอตัวเลขการเติบโต เริ่มตั้งแต่เพื่อนๆ บุคลากร 253 คน ที่ต่างนำเสนอความเป็นนาโนเทคที่สุดในทุกทาง ทั้งทำงานเต็มที่ เล่นเต็มที่ โดยเรามีเพื่อนฝั่งวิจัย 66% ของคนนาโนเทคทั้งหมด ใน 5 กลุ่มวิจัย (RGs) 17 ทีมวิจัย (RTs) รวมถึงมีเพื่อน 11 เครือข่ายวิจัยจาก 7 มหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ และ 50 หน่วยงานความร่วมมือระดับนานาชาติจาก 15 ประเทศ” ดร.วรรณีกล่าว พร้อมชี้ว่า จากความร่วมมือของนาโนเทคและพันธมิตรต่างๆ นั้น ผลลัพธ์เกิดขึ้นอย่างทางด้านการวิจัยและพัฒนา ได้แก่ ผลงานตีพิมพ์ระดับนานาชาติ 1108 ผลงาน, ต้นแบบเชิงอุตสาหกรรม 81 ผลงาน, 911 สิทธิบัตร และรางวัลระดับชาติและนานาชาติ 219 รางวัล
ในส่วนของการถ่ายทอดเทคโนโลยี นาโนเทคมี 291 โครงการร่วมวิจัย, 18 โครงการความร่วมมือ 73 สิทธิบัตร และทรัพย์สินทางปัญญา 911 รายการ โดยมีการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ 129 รายการ หรือ 14.2% ของทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหมด
รวมถึงผลลัพธ์ หรือที่เรียกว่า 3Is คือ Income หรือรายได้ 587 ล้านบาท, Investment หรือมูลค่าการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ที่ 4,515 ล้านบาท และ Impact หรือมูลค่าผลกระทบเชิงสังคมและเศรษฐกิจ 34,427 ล้านบาท โดยกระจายอยู่ในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ เครื่องจมูกอิเล็กทรอนิกส์ (E-Nose)ที่สร้างผลกระทบเชิงสังคมและเศรษฐกิจ 6,100 ล้านบาทในอุตสาหกรรมถุงมือยาง และ 2,399 ล้านบาท ในอุตสาหกรรมเบเกอรี่, เทคโนโลยี Encapsulation & Formulation ที่สร้างผลกระทบเชิงสังคมและเศรษฐกิจ 2,465 ล้านบาทในอุตสาหกรรม Functional Ingredients หรือ เทคโนโลยีคีเลชั่น ที่สร้างผลกระทบเชิงสังคมและเศรษฐกิจ 1,000 ล้านบาทในอุตสาหกรรมเกษตร (ทุเรียน) เป็นต้น
“ในช่วง 5 ปีหลัง เป็นช่วงที่ผลงานเราออกสู่เชิงประจักษ์อย่างมาก” ดร.วรรณีกล่าว
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการนาโนเทคชี้ว่า แผนแม่บทศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ที่มีมา 3 ฉบับแล้ว ซึ่งนาโนเทคเองดำเนินการอย่างเต็มที่ มีการทบทวนแผนฯ ให้สอดคล้องตามสถานการณ์ปัจจุบันอยู่เสมอ จนถึงแผนแม่บทศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2565-2570) ซึ่งเป็นแผนปัจจุบัน ซึ่งนำมาสู่แผนปฏิบัติการและตัวชี้วัดของนาโนเทคในปีงบประมาณ 2565
โดยมีวิสัยทัศน์ ในการเป็นองค์กรวิจัยแห่งความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศบนฐานแห่งความยั่งยืนและการยอมรับในระดับสากล และมีพันธกิจ ในการดำเนินงานวิจัย พัฒนา ออกแบบและวิศวกรรม ประยุกต์นาโนเทคโนโลยีและบูรณาการกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความเป็นเลิศและสามารถถ่ายทอดผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ให้กับภาคการผลิตและภาคสังคม เพื่อยกระดับความรู้ให้ทันสมัย เพิ่มสมรรถนะของผลิตภัณฑ์ที่เป็นฐานสำคัญต่อการแข่งขันและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยรวมถึงการเพิ่มคุณภาพชีวิตภายใต้ความตระหนักในการใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
เพื่อขับเคลื่อนนาโนเทคสู่องค์กรวิจัยแห่งความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศบนฐานแห่งความยั่งยืนและการยอมรับในระดับสากลตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้ แผนแม่บทฯ ฉบับที่ 4 จึงได้วาง 4 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่
กลยุทธ์ที่ 1 – วิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์สำคัญของประเทศและมนุษยชาติ
กลยุทธ์ที่ 2 – สร้างความเป็นเลิศด้านนาโนเทคโนโลยีและเสริมความเชี่ยวชาญร่วมกับพันธมิตร ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ
กลยุทธ์ที่ 3 – ขับเคลื่อนการพัฒนานาโนเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัย ภายใต้มาตรฐานและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างยั่งยืน
กลยุทธ์ที่ 4 – สร้างองค์กรแห่งความสุข ความผูกพัน และความมั่นคงอย่างยั่งยืน และพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังกำหนดทิศทางวิจัย สอดคล้องกับโจทย์ความต้องการของประเทศรวมถึงนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จากวิสัยทัศน์แผนชาติ 20 ปี ที่เป็นประเด็นมุ่งเน้นสำหรับโจทย์ความต้องการของประเทศและสังคมโลกใน 4 ด้าน ได้แก่ เกษตรและอาหาร, สุขภาพและการแพทย์ครบวงจร, เศรษฐกิจหมุนเวียน พลังงาน และสิ่งแวดล้อม, ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่ง ดร.วรรณีชี้ว่า นาโนเทคเองมี 5Tops ที่ตอบโจทย์ดังกล่าว โดยได้บูรณาการออกมาเป็น 3 กลุ่มโครงการ (Flagships) ที่ตอบแผนชาติ ตอบโจทย์ BCGs ประเทศ ได้แก่ Natural Active Ingredient, Nanomedical และ CE & Environmental Solution
สำหรับศักยภาพจากขีดความสามารถของ ศน. ในการตอบโจทย์ประเทศและภาคอุตสาหกรรมปีงบประมาณ 2565 แบ่งออกเป็นรายได้จากแหล่งทุนภายนอกและภาคอุตสาหกรรม 89 ล้านบาท จากโครงการอุดหนุนวิจัย และโครงการตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม ส่วนงานตอบยุทธศาสตร์ชาติ 34.8 ล้านบาท ทั้งยุทธศาสตร์ BCG และการบูรณาการภาคเกษตร EEC ได้แก่ การพัฒนาสารสกัดกระชายดำมาตรฐาน (Standardized Extract) เพื่อขึ้นทะเบียนในประเทศและต่างประเทศ และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง, ผลิตภัณฑ์นมโคเกรดพรีเมียม เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยยั่งยืน, โครงการจัดการและเพิ่มมูลค่าเปลือกทุเรียน เปลือกมังคุด และเปลือกเงาะ โดยวิธีสกัดสารออกฤทธิ์สำคัญสำหรับผลิตภัณฑ์ด้านเครื่องสำอาง/เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และการพัฒนาสารสกัดและผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพร ณ พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
ศักยภาพนักวิจัยนาโนเทค เก่งไม่แพ้ใคร
ผศ.ดร.ธนากร โอสถจันทร์ รักษาการรองผู้อำนวยการนาโนเทค กล่าวว่า ทิศทางด้านการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะมุ่งเน้นการตอบโจทย์สำคัญของประเทศและมนุษยชาติ โดยมีมาตรการและแนวปฏิบัติ ตามกลยุทธ์ที่ 1 ของแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 4 คือ วิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์สำคัญของประเทศและมนุษยชาติ และสร้างความเป็นเลิศด้านนาโนเทคโนโลยีและเสริมความเชี่ยวชาญร่วมกับพันธมิตรให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อนาโนเทค และทิศทางด้านการวิจัยและพัฒนาของเรา ที่เรียกว่า PESTEL ซึ่งหมายถึง
P-Political ปัจจัยทางการเมือง ทั้งสถานการณ์การเมืองระดับโลก และการเมืองประเทศไทย รวมถึงยุทธศาสตร์ BCG economy model และนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการรับมือ-ฟื้นฟูประเทศจากการระบาด COVID-19
E-Economic สภาพเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น GDP ของประเทศไทย, สถานการณ์ COVID-19 ที่ซ้ำเติมความยากจน หรือ การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
S-Social สภาพสังคมปัจจุบัน อย่างสังคมผู้สูงอายุ อัตราการเกิดและวัยทำงานลดลง รวมไปถึงโรคระบาด (COVID-19)
T-Technological เทคโนโลยีต่างๆ ที่เกิดและเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น 5G Technology หรือเทคโนโลยีรับมือโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (COVID-19)
E-Environmental สภาพแวดล้อม ทั้งปรากฎการณ์เรือนกระจก (Greenhouse effect), สถานการณ์ PM 2.5, ปัญหาขยะเพิ่มขึ้นในไทย และปัญหาคุณภาพน้ำซ้ำเติมภัยแล้ง
L-Legal กฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พรบ. ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ และกฎหมาย อว.
อย่างไรก็ดี งานวิจัยและพัฒนาของนาโนเทคยังคงเดินหน้าอย่างเข้มแข็ง อาทิ งานวิจัย กระชายดำ “โสมไทย”สุดยอดสมุนไพรไทย ในกลุ่มโครงการ (Flagships)ด้านNatural Active Ingredient ที่ตอบแผนชาติ ตอบโจทย์ BCGs ประเทศ ที่ดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สู่ธุรกิจเวชสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมูลค่าสูง สู่ BG139 สารสกัดสีเหลืองทอง ที่คาดการณ์ราคามากกว่า 150,000 บาทต่อกิโลกรัม และมีสารออกฤทธิ์กลุ่ม polymethoxyflavones สูงถึง 90% ที่ผลงานวิจัยพิสูจน์แล้วว่า มี synergistic effect อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบัน สามารถขยายกำลังการผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ (Scalable)
มะนีมะนาว น้ำมะนาวคั้นสด 100% แช่แข็ง ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยี cryogenic deactivation ใช้สำหรับประกอบอาหารและเครื่องดื่ม ตอบความต้องการภาคเอกชนอย่างบริษัท เชียงใหม่ไบโอ เวกกี้ จำกัด สร้างมูลค่าการลงทุนด้าน ว และ ท ในภาคการผลิต บริการ และภาคเกษตรกรรม 31.5 ล้านบาท , มูลค่าผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม 11.25 ล้านบาท ที่สำคัญ ยังช่วยเหลือเกษตรกรไทยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากมะนาว, ผู้บริโภคได้บริโภคผลิตภัณฑ์ที่สะอาดและปลอดภัย และช่วยธุรกิจอาหารจัดการต้นทุน การจัดหาวัตถุดิบ และการจัดการขยะที่เกิดจากวัตถุดิบ
รวมถึงผลงานวิจัยนวัตกรรมรับมือโรคอุบัติซ้ำอุบัติใหม่ (COVID-19) อย่างอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลหมวกควบคุมแรงดัน (nSPHERE) และชุดตรวจ Nano COVID-19 Antigen Rapid test
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มโครงการ CE & Environmental Solution อาทิ แพลตฟอร์มนวัตกรรมการพัฒนาคุณภาพน้ำ หรือ Water Quality Innovation platform (Area-based Model) ในพื้นที่ต่างๆ ได้แก่
พื้นที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีปัญหาน้ำทิ้งจากโรงงานทอผ้า, โรงงานกระดาษสาหลังบำบัดยังคงมีสีปนเปื้อน โดยใช้เทคโนโลยีการนำน้ำทิ้งหลังบำบัดมารีไซเคิลด้วยกระบวนการออกซิเดชั่นขั้นสูงโดยการกระตุ้นด้วยแสงอาทิตย์ เพื่อหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์
ในพื้นที่น่าน และลำพูน ที่พบปัญหาการปนเปื้อนฟลูออไรด์ ก็มีเทคโนโลยีระบบกรองด้วยวัสดุดูดซับฟลูออไรด์จากถ่านกระดูกอย่างง่ายในชุมชน ต้นทุนต่ำ พร้อมขยายผลในน้ำบาดาล สู่ต้นแบบระบบกรองเพื่อแก้ปัญหาฟลูออไรด์ในน้ำบาดาล ณ ร.ร.บ้านใหม่ในฝัน ต.สะเนียง อ.เมือง จ.น่าน
พื้นที่รอบเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ที่มีปัญหาการปนเปื้อนสารพิษตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่คาดว่าเป็นสาเหตุโรคไตในภาคอีสาน จึงนำเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ตรวจวัดฟลูออไรด์ ไอออนโลหะหนัก สารกำจัดศัตรูพืช ในแหล่งน้ำมาใช้แก้ปัญหา
รวมถึงพื้นที่จังหวัดชลบุรี ที่พบปัญหาการปนเปื้อนโลหะหนักในน้ำประปา จึงได้พัฒนาเทคโนโลยีจากการต่อยอดเทคโนโลยีเซ็นเซอร์จากขอนแก่น (เพิ่มชนิดของวัสดุที่ใช้ทำเซนเซอร์ และชนิดไอออนโลหะ/สารกำจัดศัตรูพืชที่ตรวจวัด)
โครงการการตรวจวิเคราะห์หาการกระจายขนาดและองค์ประกอบทางเคมีของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้แผนงานวิจัยเชิงบูรณาการด้านเทคโนโลยีเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละออง PM2.5: กรณีศึกษา พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
โครงการวิจัยเรื่องเทคโนโลยีการเร่งปฏิกิริยาและตัวเร่งปฏิกิริยานาโนขั้นสูงเพื่อการเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นเชื้อเพลิงและสารเคมี
รวมไปถึงโครงการขยายผล @ EEC ปี 2564 อย่าง“การทดสอบประสิทธิภาพของสารละลายคีเลตธาตุอาหารรอง-เสริม ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับพืชเศรษฐกิจ (ทุเรียน) ในระดับภาคสนาม ณ พื้นที่EEC” ภายใต้การดำเนินงานของโครงการ พัฒนาศูนย์สาธิตการวิจัยและพัฒนาเชิงประยุกต์ด้านเกษตรสมัยใหม่ เกษตรอัจฉริยะ และเกษตรนวัตกรรม
นอกจากนี้ เพื่อตอบกลยุทธ์ที่ 1 ของแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 4 ในการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์สำคัญของประเทศและมนุษยชาติ ภายใต้ 7 มาตรการสำคัญ นาโนเทคยังได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ในหลักสูตรประเมินผลกระทบ หรือ หลักสูตรด้านเศรษฐศาสตร์เพื่อวิธีคำนวณแบบ Impact pathway ซึ่งจะเป็นกลยุทธ์ด้านเศรษฐศาสตร์ และวิธีการประเมินผลลัพธ์ผลกระทบของผลงานวิจัย เพื่อรองรับแนวทางการเสนอขอแหล่งทุน และขยายงานวิจัยสู่เชิงพานิชย์ เพื่อเสริมแกร่งให้กับบุคลากร เพื่อร่วมกับขับเคลื่อนสู่จุดหมาย
จับมือพันธมิตร สู่ความเป็นเลิศด้านนาโน
ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการนาโนเทค กับการสร้างความเป็นเลิศด้านนาโนเทคโนโลยีและเสริมความเชี่ยวชาญร่วมกับพันธมิตร ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โดยยกตัวอย่างที่สร้างความเป็นเลิศด้านนาโนเทคโนโลยี อย่าง Microneedles: เข็มจิ๋วสู่ “แพลตฟอร์มแห่งอนาคต” เพื่อการนำส่งสารออกฤทธิ์สำคัญ ของ ดร.ไพศาล ขันชัยทิศ หัวหน้าทีมวิจัยเข็มระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน ที่สามารถไปได้ไกลกว่าเทคโนโลยีที่มีอยู่ในท้องตลาด เช่น สามารถสร้างเข็มขนาด 5 ไมโครเมตร ในขณะที่ท้องตลาดจะขนาด 40 ไมโครเมตร และยังสร้างได้หลายพื้นผิว เช่น ผ้า หรือ ผิวที่มีความนิ่ม ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย
เมื่อเทคโนโลยีดีแล้ว สามารถต่อยอดสู่เชิงธุรกิจ ซึ่ง สวทช. มีกลไกของ NSTDA Startup โดยมีรูปแบบ การลงทุนเพื่อจัดตั้งเป็นบริษัท NSTDA Startup โดยนำผลงานของ สวทช. ไปต่อยอด โดยมีบุคลากรของ สวทช. ที่ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 25% สามารถไปทำงานตำแหน่งบริหาร เช่น CEO, CTO, COO หรือตำแหน่งอื่นๆ ตามความเหมาะสม ร่วมกับพันธมิตรเอกชนร่วมทุน ทำหน้าที่ช่วยบริหารธุรกิจหรือเป็นพันธมิตรด้านการเงิน การตลาด หรืออื่นๆ เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ โดย สวทช. เองอาจจะเข้าถือหุ้นในบริษัทสตาร์ทอัพ
ทั้งนี้ ดร.ภาวดีเสริมว่า มีนักวิจัยที่สนใจสอบถามเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่น การไปทำงานในบริษัทสตาร์ทอัพจะนับเวลาใช้ทุนได้ไหม ถือหุ้นได้ไหม ซึ่งเมื่อไปสอบถามข้อมูลแล้วพบว่า กลไกของ NSTDA Startup สามารถจะเป็นรูปแบบการยืมตัว (ไม่ต้องลาออกจากสวทช.) โดยที่บริษัท Startup จะจ่ายค่าตอบแทนสำหรับการออกไปปฏิบัติงานของนักวิจัยเป็น 1.16 เท่าของเงินเดือน กลับมาให้สวทช.ภายใต้สัญญาการยืมตัว ส่วนตัวนักวิจัยก็ยังรับเงินเดือนและสวัสดิการตามระเบียบของสวทช. โดยที่เงินเพิ่มพิเศษและผลประโยชน์อื่น ๆ นั้นขึ้นอยู่กับข้อตกลงร่วมกันกับบริษัท Start up และที่สำคัญ สามารถนับเวลาใช้ทุนได้ (กรณีเป็นนักเรียนทุน) และถือหุ้นได้ เป็นกลไกสนับสนุนให้เอางานวิจัยของ สวทช. ไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ให้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการสร้างความเชี่ยวชาญ & Visibility ร่วมกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ผ่านกลยุทธ์เครือข่ายและความร่วมมือ จากพันธมิตรทั้ง 3 กลุ่มได้แก่ เครือข่ายความร่วมมือในประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มสถานศึกษาและองค์กรด้านการวิจัยและพัฒนาจำนวน 11 เครือข่าย 7 มหาวิทยาลัย, เครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติ 7 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, จีน, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ญี่ปุ่น, เกาหลี และสหราชอาณาจักร และพันธมิตรจากภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม ด้านความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี หรือสมาคมต่างๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังเดินหน้าเรื่องการหาแหล่งทุนวิจัย (น่านน้ำใหม่) แหล่งทุนภายในประเทศ เช่น กองทุน ววน. 24,400 ล้านบาท รวมถึงแหล่งทุนต่างประเทศ เช่น แหล่งทุนเปิดใหม่อย่าง Horizon EU Budget ที่มุ่งเน้น 5 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ การประยุกต์ใช้ทางด้านภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม (Adaptation to climate change, including societal transformation), มะเร็ง (Cancer), คุณภาพแหล่งน้ำธรรมชาติในโลก (Healthy oceans, seas, coastal & inland waters), การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (climate neutral) และเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) รวมถึงคุณภาพดินและอาหาร (Soil health & Food) ที่ นาโนเทคสามารถนำงานวิจัยไปตอบได้
โดยนาโนเทคได้เตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรเพื่อสร้างความเป็นเลิศ ผ่านหลักสูตร Strategic Thinking เรียนรู้เทคนิคการพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรมด้วยรูปแบบการคิดที่หลากหลาย สามารถนำไปใช้ในการหาแนวคิด กลยุทธ์ มุมมอง ต่างๆ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด แก้ปัญหาและสร้างสรรค์ความคิดในการทำงานใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังเตรียมการตอบกลยุทธ์ที่ 3 การขับเคลื่อนการพัฒนานาโนเทคโนโลยีอย่างยั่งยืนและปลอดภัย ซึ่งเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางด้านนาโนเทคโนโลยี ผ่านแผนกิจกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนานาโนเทคโนโลยีอย่างยั่งยืนและปลอดภัย ปี 2565 โดยร่วมกับพันธมิตรในประเทศ ได้แก่ การจัดสัมมนาในหัวข้อความปลอดภัย “การรับมือฝุ่นละอองขนาดเล็กและสถานการณ์โควิด 19”, การจัดสัมมนาในงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 17 (NAC2022) เกี่ยวกับ “Nanosafety Session” และ การจัดทำ (ร่าง) มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนาโนเทคโนโลยี ร่วมกับ สมอ. ใน 2 มาตรฐานคือ มาตรฐานอนุภาคนาโนกักเก็บสารสกัดไพล และมาตรฐานอนุภาคนาโนกักเก็บสารสกัดพริก
ด้านความร่วมมือกับพันธมิตรต่างประเทศ ได้แก่ การเข้าร่วม INISS-nano หรือ International Network Initiative on Safe and Sustainable Nanotechnologies, เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน WPMN Steering Group on Advanced Materials, เป็นวิทยากรในหัวข้อ Regulatory Aspects of Nanotechnology ในงาน NANOFORAGRI 2021 และจัดสัมมนาด้านความปลอดภัยด้านนาโนเทคโนโลยีหัวข้อ “Bioactive compound and safety testing model” ภายในงาน NanoThailand 2021 อีกด้วย
สร้างองค์กร“มีสุข ผูกพัน มั่นคง”
อีก 1 กลยุทธ์ที่ถือว่า นาโนเทคโดดเด่นมากคือ การให้ความสำคัญกับองค์กรและคนในองค์กร ให้คนมีความสุข มีกำลัง รัก สามัคคี และพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลง ซึ่ง ดร.สุธี ผู้เจริญชนะชัย รองผู้อำนวยการนาโนเทคได้นำเสนอผ่านกลยุทธ์การสร้างองค์กรแห่งความสุข ความผูกพัน และความมั่นคงอย่างยั่งยืน และพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ
“มีสุข ผูกพัน มั่นคง” หรือ HAPPY REVI ที่ถอดแนวคิดจาก NSTDA’s 4 Principles ที่เป็นกรอบการดําเนินงานในทุกกิจกรรมของ สวทช. ได้แก่ Relevance ตอบโจทย์, Excellence เป็นเลิศ, Visibility ที่รับรู้ได้ และ Impact เกิดผลกระทบ
ดร.สุธีนำเสนอใน 3 มาตรการคือ สร้างแรงจูงใจในการทำงาน และความผูกพันของบุคลากร, พัฒนาและเพิ่มศักยภาพของบุคลากรให้สอดคล้องกับทิศทางองค์กร และปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมแนวปฏิบัติ อาทิ จัดทำแผนเพิ่มแรงจูงใจและความผูกพันของบุคลากร , วิเคราะห์ทิศทางองค์กร และสำรวจสาขา/ทักษะ/ความเชี่ยวชาญ ที่ต้องพัฒนา ให้สอดคล้องกัน, กำหนดกลุ่มเป้าหมาย และวิธีการพัฒนาทักษะ/ความเชี่ยวชาญ ในรูปแบบต่างๆ พร้อมติดตามและประเมินผลการพัฒนาศักยภาพ, จัดตั้ง Change Response Team (CRT) รองรับการเปลี่ยนแปลงมุ่งเป้า เป็นต้น
“เรามีเป้าหมาย และเป้าหมายมีไว้พุ่งชน ซึ่งเป้าที่เราวางไว้ในปีที่ผ่านมา เราก็สามารถทำได้มากกว่าแบบ out of limit no limit ซึ่งพี่เชื่อในขีดความสามารถของพวกเราที่มีมากกว่าสิ่งเหล่านี้” ดร.วรรณีชี้
ตัวชี้วัดของนาโนเทค ปี 2565 ตอบโจทย์ NSTDA- Key Performance Indicators หรือKS ในมุมของ 3Is รวมถึงการใช้ประโยชน์จาก IP ต่างๆ และ IC Score, ตอบ NSTDA Strategic Initiatives คือ SI-SI4 การขยายผลงานวิจัยฯ และ SI5: FWCI รวมถึงตอบแผนยุทธศาสตร์หลักของนาโนเทคด้วยตัวชี้วัดภายใต้ 4 กลยุทธ์ ดังนั้น ผู้อำนวยการนาโนเทคเผยว่า นอกจากปริมาณการตีพิมพ์ ต้องมุ่งเน้นเรื่องของ FWCI ที่ควรต้องไม่ต่ำกว่า 1 ส่วน Impact Factor ของเราดีมาก แม้จะเพิ่มจำนวนขึ้นมาก แต่ในเชิงคุณภาพไม่ลดลงเลย
สำหรับความท้าทาย และแนวโน้มที่จะเตรียมรับมือในอนาคต คือ กลไกสำคัญ ตอบโจทย์ประเทศ สร้างสังคมนวัตกรรม ลดความเหลื่อมล้ำ โดยกลยุทธ์ สวทช. ได้แก่ ตอบโจทย์ประเทศ, โครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและพัฒนา, เสริมขีดความสามารถด้วย วทน., สร้างเครือข่าย และปรับ สวทช. ให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง ที่นาโนเทคก็จะเดินไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยกลไกขยายผลการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย (Strategic Initiative 2565) และการสร้างความเป็นเลิศสู่ผลกระทบระยะยาวระดับประเทศและระดับโลก เพื่อให้ไทยมีขีดความสามารถของเทคโนโลยีฐานทั้ง 4 ด้านทัดเทียมประเทศที่ก้าวหน้าในเอเชียตามแผนยทธศาสตร์ของชาติ ที่เป้า 4 เทคโนโลยีฐาน ที่ 1 ในนั้นคือ นาโนเทคโนโลยี เป็น 1 ใน 5 ของประเทศที่ก้าวหน้าในเอเชียในปี 2576-2580
“เส้นทางของนาโนเทคเรา จะเป็นการเดินทางบนถนนที่จะไปด้วยกัน ไม่มีใครบอกได้ว่าเป็นทางโค้งกี่โค้ง เป็นทางลาดยาง ทางเรียบ หรือเปล่า ซึ่ง 6 ปีจากนี้ ตาม NANOTEC Master Plan (2021-2027) เราจะเป็นคนกรุยทางและเดินด้วยกันต่อไป” ดร.วรรณีทิ้งท้าย