การจะนำงานวิจัยจากในห้องปฏิบัติการ ไปถึงมือผู้ใช้จริงที่อยู่ปลายทางของห่วงโซ่ คงจะขาดจิ๊กซอว์สำคัญอย่าง “ผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยี” ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญที่จะรับหน้าที่ในการขยายสเกลการผลิตจากระดับห้องปฏิบัติการสู่ระดับอุตสาหกรรม มองความต้องการของผู้บริโภค และนำส่งนวัตกรรมไทยไปให้ถึงมือ NANOTEC Newsletter ฉบับนี้ จะพามาคุยกับ “คุณณัติรุจน์ รัตนศรัญวิทย์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไบโอ อินโน เทค (ไทยแลนด์) จำกัด เอกชนผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีมากมายจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ของเรา รวมถึงศูนย์แห่งชาติอื่นๆ ของ สวทช. อีกด้วย
NANOTEC Newsletter: จุดเริ่มต้นของการทำผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยไทย ทำไมจึงเดินเข้ามาหานาโนเทค สวทช. คะ
จากการที่บริษัท ไบโอ อินโน เทค (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นผู้นำเข้าสินค้าด้านสาธารณสุขและการแพทย์จากทั่วโลก เราได้เห็นถึงโอกาสและอุปสรรคของสินค้าที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นอย่างดี ถึงแม้การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศจะเป็นเรื่องง่าย ใช้เวลาและงบประมาณ น้อยกว่าการผลิตเป็นอย่างมากมาก แต่ก็ทำให้เรารู้สึกว่าทำไมประเทศเราถึงผลิตเองไม่ได้ เราเชื่อว่านักวิจัย นักขาย นักการตลาด ตลอดจนทรัพยากรของเราไม่เป็นรองใคร ประกอบกับนโยบาย Thailand 4.0 และการให้ประเทศไทยหลุดออกจากประเทศรายได้ปานกลาง ที่มีนโยบายการทำบัญชีนวัตกรรมไทย เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของในการตัดสินใจผลิตสินค้าเอง
เราจึงมองหาสินค้าที่เราถนัดเพื่อผลิต โดยเราได้เดินงาน Thailand Tech Show 2561 เพื่อหาสินค้าที่ต้องการผลิต โดยในงานเราสนใจผลิตภัณฑ์ “สเปรย์กันยุงนาโนอิมัลชั่นที่กักเก็บอิคาริดิน” ที่วิจัยและพัฒนาโดยศูนย์นาโนเทค สวทช. จึงได้ประสานงานกับทีมประชาสัมพันธ์ของนาโนเทคเพื่อเข้ารับฟังรายละเอียดและได้ทำการขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมดังกล่าวมาผลิต ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้ติดต่อ หาข้อมูลเกี่ยวกับ สวทช. เพิ่มเติม
จนกระทั่งการระบาดของ COVID-19 ในช่วงเริ่มต้น ทางบริษัทฯ จึงมองหางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับน้ำยาฆ่าเชื้อ พบว่า ทางนาโนเทค มีงานวิจัยน้ำยาฆ่าเชื้อจึงได้ติดต่อเพื่อขอรายละเอียด และได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีไปในที่สุด ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจอย่างมากของพวกเรา ที่ได้นำนวัตกรรมไทยดีๆ มาต่อยอดจนสำเร็จ
NANOTEC Newsletter: ตอนนี้ มีโครงการอะไรกับนาโนเทค หรือศูนย์แห่งชาติอื่นๆ ของ สวทช. บ้างคะ
เราสนใจหลายโครงการ ซึ่งโครงการที่บริษัทในเครือได้ร่วมกับทาง สวทช. นั้น ปัจจุบัน มีดังนี้
- โครงการผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อประสิทธิภาพสูง สำหรับเครื่องมือแพทย์ เป็นการ licensing และโครงการจ้างวิจัยต่อยอดจากโครงการสารฆ่าเชื้อไอออนประจุบวกจาก Zn ของนาโนเทค สวทช. ได้รับการสนับสนุนจากโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช. ได้รับการส่งมอบเรียบร้อยแล้ว
- โครงการผลิตน้ำยาพ่นหมอกควันกำจัดยุงตัวแก่ผสมสารน๊อคยุงจากธรรมชาติ โครงการจ้างวิจัยนาโนเทค สวทช. ที่ได้รับการส่งมอบเรียบร้อยแล้ว
- โครงการผลิตน้ำยาไล่ยุงและแมลงภายนอกอาคาร จากสารธรรมชาติ โครงการจ้างวิจัยนาโนเทค สวทช. ได้รับการสนับสนุนจาก I-TAP อยู่ระหว่างการส่งมอบ
- โครงการผลิตชุดตรวจ ATK nano ของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ อยู่ระหว่างการถ่ายทอดเทคโนโลยี
- โครงการการวิเคราะห์ความต้องการและเตรียมความพร้อมก่อนการตัดสินใจเลือกใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์ ได้รับสนับสนุนโดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช. ซึ่งได้รับการส่งมอบเรียบร้อยแล้ว
NANOTEC Newsletter: การทำงานร่วมกันระหว่างภาคธุรกิจอย่าง ไบโอ อินโน เทค และด้านการวิจัยอย่างนาโนเทค สวทช. ที่แตกต่างกัน มีปัญหา อุปสรรค หรือความท้าทายอย่างไรบ้าง และมีการปรับแก้อย่างไรให้ทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น และต่อเนื่องอีกหลายโครงการคะ
ความท้าทายในการประสานงานระหว่างทั้ง 2 องค์กรคือ การมองในมุมที่แตกต่างกัน โดยนักวิจัยมองที่ประสิทธิภาพของตัวผลิตภัณฑ์หรืองานวิจัยเป็นตัวหลัก ส่วนผู้ประกอบการมองการนำผลิตภัณฑ์นั้นๆ ไปใช้งานกับลูกค้าเป็นหลัก ดังนั้น จึงต้องมีผู้ประกอบการต้องมีความเชี่ยวชาญในตลาดของตนเอง เพื่อทราบถึงความต้องการของลูกค้าตนเอง
จากการได้ประสานงานกับนักวิจัยหลายทีมของ สวทช. นั้นพบว่า หากผู้ประกอบการมีความชัดเจนในสิ่งที่ตนเองต้องการ และสามารถบอกออกมาได้ว่า ต้องการอะไร อย่างไร นักวิจัยก็สามารถปรับแก้ให้ได้ตามต้องการ จะมีบางโปรเจคเท่านั้นที่สูตรที่ License ไม่สามารถปรับแก้ได้ เนื่องจากเป็นแกนหลักของงานวิจัยก็ต้องนำจุดนั้นไปใช้เป็นจุดขายของผลิตภัณฑ์ ซึ่งหลายโครงการนั้น ทางเราต้องอาศัยการได้พูดคุยกับนักวิจัย แทนที่จะผ่านเฉพาะผู้ประสานงานของ สวทช. เท่านั้น เพื่อให้เข้าใจตรงกัน และหาทางออกร่วมกัน
NANOTEC Newsletter: ความร่วมมืออย่างต่อเนื่องและหลากหลายเช่นนี้ ไบโอ อินโน เทค มั่นใจอะไรในตัวนักวิจัยนาโนเทค และ สวทช. คะ
จากการที่เราอยู่ในวงการวิทยาศาสตร์และงานวิจัยมาตั้งแต่แรก ทำให้เราทราบดีอยู่แล้วว่า ทาง สวทช. มีนักวิจัย และเครื่องมือ รวมถึงองค์ความรู้และเครือข่ายวิจัยที่กว้างขวาง เราจึงมีความมั่นใจเป็นอย่างสูงว่า เมื่อให้โจทย์ไปแล้วจะสามารถวิจัยและพัฒนาให้ได้ตามต้องการ ซึ่งทางเราต้องขอขอบคุณทางทีมงานของสวทช.ที่ได้ประสานงานร่วมกันอย่างดีเสมอมา
NANOTEC Newsletter: มุมมองของการทำธุรกิจจากนวัตกรรมไทยเป็นอย่างไรคะ หลังร่วมงานกับ สวทช. และทำตลาดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมไทยแล้ว ภาพของงานวิจัยไทย ความจำเป็น และความสำคัญเปลี่ยนไปจากเดิมมากน้อยแค่ไหน
ต้องบอกว่า จากตอนแรกที่เราจะเริ่มนำผลิตสินค้าด้วยนวัตกรรมของคนไทย ก็มีความกังวลและมีคำถามจากผู้บริหาร รวมไปถึงทีมงานหลายฝ่ายว่า ลูกค้าจะมั่นใจและกล้าใช้หรือไม่ โดยหลักๆ แล้วเรากลัวการไม่ยอมรับของลูกค้ามากกว่า เนื่องจากเราเป็นสินค้าการแพทย์และสาธารณสุข
แต่เมื่อได้ลองผลิตและทำตลาดดูแล้ว พบว่า ลูกค้าให้การยอมรับสินค้าที่เป็นนวัตกรรมที่ผลิตโดยคนไทย แต่ที่สำคัญคือ ต้องเป็นสินค้าที่มีนวัตกรรม มีการอธิบาย มี Story ไม่ใช่สินค้าทั่วไปที่แข่งขันกันด้านราคาเพราะลูกค้าเองก็มั่นใจในความสามารถของนักวิจัยและมาตรฐานของคนไทย มากกว่าหลายๆ ประเทศด้วยซ้ำ โดยเฉพาะวิจัยจาก สวทช. ซึ่งถือว่า เป็นศูนย์วิจัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศแล้ว
“น้ำยาฆ่าเชื้อโรคผสมซิงค์นาโนอิมัลชั่น” นาโนเทค-ไบโอ อินโนเทค ตอบโจทย์ยุคโควิด-19
จากสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 ในประเทศไทยทำให้ผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบของสารฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัสเกิดการขาดแคลน เนื่องจากผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบดังกล่าวต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งพบว่า มีงานวิจัยที่พัฒนาสูตรน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆที่สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ภายในประเทศมีน้อยมาก ทีมวิจัยนำโดย ดร.วรายุทธ สะโจมแสง ทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งเเวดล้อม กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) จึงเดินหน้าพัฒนาสารฆ่าเชื้อที่สามารถใช้ในงานด้านสาธารณสุขขึ้นมา โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเดิมโดยอิงน้ำยาฆ่าเชื้อที่ดีในด้านสาธารณสุข
โจทย์ของทีมวิจัยนาโนเทคคือ ต้องมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อที่ครอบคลุมสามารถทำลายเชื้อได้หลายชนิด ออกฤทธิ์ได้รวดเร็วและมีฤทธิ์อยู่ได้เป็นเวลานาน ต้องไม่กัดกร่อนพื้นผิวของโลหะ ยาง และพลาสติก เป็นต้น รวมทั้งมีความคงตัวสูงต้องไม่ถูกทำลายฤทธิ์ได้ง่าย ควรมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ โดยที่ต้องไม่เป็นพิษ ทำให้ระคายเคืองต่อผิวหนัง และไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ และควรเป็นชนิดเข้มข้นเพื่อให้ประหยัด เมื่อต้องทำการฉีด พ่น เช็ด ถู
ทีมวิจัยจึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียด้วยซิงค์ไอออนจากเกลือซิงค์ภายในประเทศ ซึ่งเกลือซิงค์ยังสามารถใช้เป็นแร่ธาตุอาหารเสริมของ คน สัตว์และพืช ดังนั้นจึงมีความปลอดภัยและไม่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมเนื่องจากสามารถเปลี่ยนไปเป็นแร่ธาตุอาหารเสริมได้ นอกจากนี้ ซิงค์ไอออนมีฤทธิ์ในการยับยั้งและฆ่าเชื้อได้ยาวนาน ไม่สลายตัวง่าย และยังสามารถใช้เป็นสารป้องกันการกัดกร่อนแทนการใช้สารเคมี
“อย่างไรก็ตาม ไอออนของโลหะที่ได้กล่าวมานั้นมีความคงตัวต่ำกว่าโลหะที่อยู่ในรูปอนุภาคนาโนมาก จึงเป็นที่มาของนวัตกรรมนี้ ที่จะพัฒนาโลหะในรูปของไอออนบวกของซิงค์ไอออนจากเกลือซิงค์ โดยอาศัยหลักการของการแทนที่โมเลกุลของน้ำที่มาล้อมรอบซิงค์ไอออนด้วยโมเลกุลขนาดเล็ก เช่น กรดอะมิโน โปรตีน กรดไขมันหรือพอลิเมอร์ที่ทำหน้าที่ล้อมรอบหรือเกิดสารประกอบเชิงซ้อนหรือคีเลตกับซิงค์ไอออนแทนที่โมเลกุลของน้ำ ทำให้ไอออนของโลหะที่มีประจุบวกมีความเสถียรทนต่อการจับของประจุลบในสิ่งแวดล้อม และยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัสโดยใช้ร่วมกับสารลดแรงตึงผิว” ดร.วรายุทธอธิบาย
นวัตกรรมน้ำยาฆ่าเชื้อโรค นาโนเทค สวทช. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท ไบโอ อินโน เทค (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งได้ร่วมกับผู้วิจัยให้พัฒนาต่อยอดให้น้ำยาฆ่าเชื้อสูตรพื้นฐาน ให้สามารถฆ่าเชื้อราได้ และมี pH เป็นกลาง (pH 6.5-7.5) โดยให้ใช้สารเคมีที่ปลอดภัยหรือใช้สารธรรมชาติ จึงเป็นที่มาของสูตรฆ่าเชื้อไอออนบวกของซิงค์ไอออน และคลีเลติง เอเจ้นท์ (chelating agent) โดยเพิ่มสารฆ่าเชื้อจากเบนซาลโคเนียม คลอไรด์ และสารทำความสะอาดจากกรดไขมันมะพร้าว ซึ่งเป็นสูตรเฉพาะของบริษัทฯ ที่พัฒนาเพิ่มเติม
น้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่มีองค์ประกอบของซิงค์นาโนอิมัลชั่นนี้ ผ่านการทดสอบการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (เชื้อ Escherichia coli Staphylococcus aureus Pseudomonas aeruginosa และSalmonella choleraesuis) จากโครงการประกันคุณภาพทางจุลชีววิทยา คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทดสอบการฆ่าเชื้อไวรัส H1N1 และทดสอบการฆ่าเชื้อไวรัส Porcine epidemic diarrhea virus (PEDV) ซึ่งเป็นไวรัสในตระกูล(Coronavirus) เช่นเดียวกับเชื้อ SARS-CoV-2 จากคณะเวชศาสตร์เขตร้อนมหาวิทยาลัยมหิดล และเชื้อรา Aspergillus Niger จากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสในสัตว์ จากศูนย์วิทยาศาสตร์เบทาโกร พร้อมทั้งได้ทดสอบความปลอดภัย (LD50) ของผลิตภัณฑ์กับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยได้ขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมปศุสัตว์เป็นทะเบียนวัตถุอันตราย และขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยอีกด้วย