พันธมิตรที่ดีจะนำพากันไปได้ไกล แต่พันธมิตรที่ดียิ่งกว่าคือ การร่วมมือกัน ช่วยเหลือและสนับสนุนผู้อื่น เช่นเดียวกับพันธมิตรของ สวทช. อย่าง GPSC หรือบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ที่ล่าสุด ได้ร่วมมือกันยกระดับและเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจชุมชน ตามโมเดลเศรษฐกิจแบบ BCG เพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน ภายใต้โครงการ “ผลักดันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในชุมชนอย่างยั่งยืน” NANOTEC Newsletter ฉบับนี้ จะพามาคุยกับดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และคุณวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. ที่จะมาให้ข้อมูลความร่วมมือ งานวิจัย และประโยชน์ที่จะเกิดจากนี้
การลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ด้านการดำเนินงาน “โครงการผลักดันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในชุมชนอย่างยั่งยืน”ระหว่าง สวทช. โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค), สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ที่จะร่วมสนับสนุนการขยายผลงานวิจัยของ สวทช.ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการแพทย์มาประยุกต์ใช้เพื่อขับเคลื่อน โดยมีโครงการ GPSC Smart Farming (เกษตรอัจฉริยะ) เป็นโครงการนำร่อง 2 ชุมชน ในการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน และมีเป้าหมายการดำเนินงานภายในกรอบระยะเวลา 3 ปี (ต.ค.64 – ต.ค.67) นำร่องด้วยโครงการ GPSC Smart Farming โดยพัฒนาโรงเรือนอัจฉริยะใน 2 ชุมชนคือ บ้านสวนต้นน้ำ อ.เขาชะเมา จ.ระยอง และ บ้านห้วยขาบ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ขับเคลื่อนเกษตรวิถีใหม่ด้วยนวัตกรรม พร้อมเตรียมขยายผลสู่ชุมชนเครือข่ายในพื้นที่ทั่วประเทศ
NANOTEC Newsletter: ที่มาของการทำข้อตกลง (MOU) ร่วมกันเกิดจากอะไรคะ
ดร.ณรงค์ สวทช.: ในด้านความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร สวทช. ได้กำหนดวิสัยทัศน์ ในการเป็น “พันธมิตรร่วมทางที่ดี สู่สังคมฐานความรู้ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สวทช. ร่วมดำเนินงานกับหน่วยงานพันธมิตร จากภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ผ่านกลไกความร่วมมือหลากหลายรูปแบบ เพื่อเชื่อมโยงผลงานวิจัยและพัฒนา สู่นวัตกรรมที่มีประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งสำหรับ สวทช. และ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ผมต้องเรียนว่า นี่ไม่ใช่ความร่วมมือครั้งแรกระหว่างสององค์กร ที่ผ่านมา สวทช. และ จีพีเอสซี มีความร่วมมือกันในเรื่องของการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ โดยดำเนินการโครงการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขยายโอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่สู่อุตสาหกรรมพลังงานแห่งอนาคต และในวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือ “โครงการผลักดันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) สู่การใช้ประโยชน์ในชุมชนอย่างยั่งยืน” ระหว่าง บริษัทโกลบอลเพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) และ สวทช. ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในกลุ่มเทคโนโลยีด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม การเกษตร การแพทย์และสาธารณสุข ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ชุมชนเป้าหมายของโครงการฯ ทั่วประเทศ
คุณวรวัฒน์ GPSC: บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะเชื่อว่าการที่ธุรกิจจะพัฒนาอย่างยั่งยืนได้นั้น ชุมชนและสังคมจะต้องเติบโตไปพร้อมกัน ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้จัดทำกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชนในทุกพื้นที่การดำเนินงาน เพื่อรับฟังข้อกังวลและความสนใจ และนำมาพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานในพื้นที่เพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
โดยเฉพาะการให้ความสำคัญในการนำนวัตกรรมต่างๆ มาประยุกต์ใช้ เพื่อการสร้างประโยชน์ในพื้นที่ชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของ สวทช. ด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ประเทศ และมุ้งเน้นการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง จึงมีแนวคิดในการดำเนินงานโครงการร่วมกันระหว่าง บริษัทฯ และ สวทช. เพื่อผลักดันนวัตกรรมด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม สุขภาพและการแพทย์ ให้เกิดการนำไปใช้เชิงสาธารณประโยชน์ในพื้นที่จริง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชนและสิ่งแวดล้อม ให้เกิดความยั่งยืนในประเทศต่อไป
NANOTEC Newsletter: บทบาทของ GPSC และ สวทช. ในการลงนามข้อตกลงฯ ดังกล่าว เป็นอย่างไรคะ
ดร.ณรงค์ สวทช.: สวทช. เรามีบทบาทหลักในการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งในกรอบความร่วมมือครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญในการนำผลงานวิจัย นวัตกรรม ของ สวทช. ที่มีอยู่มากและหลากหลายไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ ตามความต้องการของแต่ละพื้นที่ แต่ละชุมชน พร้อมด้วยนักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญที่จะเป็นกำลังเสริมหลัก ร่วมกับทาง GPSC ที่มาช่วยสนับสนุนขยายผลงานวิจัย รวมทั้งจัดหาทรัพยากรด้านต่างๆ ให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ และนำผลงานไปใช้ประโยชน์ในชุมชนต่างๆ โดยเริ่มจาก 2 ชุมชนนำร่องนี้ และเราเชื่อว่า โครงการนี้ จะขยายกำลังไปสู่ชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ
คุณวรวัฒน์ GPSC: GPSC พร้อมเข้าไปสนับสนุนขยายผลงานวิจัย ในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ด้านการบริหารจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ และนำผลงานไปใช้ประโยชน์ในชุมชนที่ GPSC เข้าไปสนับสนุน รวมทั้งจัดหาทรัพยากรด้านต่างๆ ทั้งบุคลากร อุปกรณ์ เทคโนโลยีด้านพลังงานในการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ เพื่อช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจและช่วยเหลือชุมชนด้วยการนำนวัตกรรมและองค์ความรู้ทั้งของสวทช.และ GPSC มายกระดับกระบวนการผลิตและการเพาะปลูก เพื่อให้เป็นเกษตรวิถีใหม่ เพิ่มรายได้ให้กับชุมชน สร้างโอกาสและสร้างงานเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานภายในกรอบระยะเวลา 3 ปี (ต.ค.64 – ต.ค.67)
NANOTEC Newsletter: ช่วยเล่าถึงแนวทางการพัฒนาโครงการนำร่อง GPSC Smart Farming (เกษตรอัจฉริยะ) ค่ะว่า จะลงไปที่ไหน อย่างไรบ้าง
คุณวรวัฒน์ GPSC: เราได้ดำเนินการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน โดยนำร่องใน 2 ชุมชน คือ พื้นที่บ้านห้วยขาบ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน และ พื้นที่บ้านสวนต้นน้ำ อ.เขาชะเมา จังหวัดระยอง
ดร.ณรงค์ สวทช.: พื้นที่บ้านห้วยขาบ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน จะประกอบด้วย 2 โครงการย่อยได้แก่ การส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน ที่มุ่งเน้นการจัดอบรมให้ความรู้และประโยชน์ของการปลูกพืชหมุนเวียนตลอดจนพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกในแต่ละฤดูกาล (Training & Workshop) การนำเทคโนโลยีของ สวทช. มาใช้ในพื้นที่และการถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูก ตลอดจนการรักษาอายุการเก็บเกี่ยว และ ระบบเกษตรอัจฉริยะในโรงเรือน โดยจัดให้มีการอบรมความรู้การนำเกษตรอัจริยะมาใช้ในโรงเรือน พัฒนาระบบอัจฉริยะที่เหมาะสมกับพื้นที่ และติดตั้งระบบและทดสอบการใช้งาน โดยระบบที่พัฒนา ประกอบด้วย การติดตั้งพลังงานหมุนเวียน (RE) การปลูกพืชด้วยแสง LED ระบบการให้น้ำอัจฉริยะ และระบบเซนเซอร์สำหรับการติดตามสภาพแวดล้อม ซึ่งพื้นที่นี้ นาโนเทค และ สท. ได้เริ่มลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่แล้วตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีการปรับปรุงโรงเรียนสาธิตบางส่วนและทยอยอบรมความรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1) กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกกาแฟ และ 2)กลุ่มปลูกพืช/ผักเศรษฐกิจ
ส่วนพื้นที่บ้านสวนต้นน้ำ อ.เขาชะเมา จังหวัดระยอง ก็มี 2 โครงการย่อยเช่นกัน คือ ‘Magik Growth’ นวัตกรรมถุงห่อทุเรียนที่นำมาใช้ห่อทุเรียนแทนการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช และช่วยทำให้เปลือกบาง-เนื้อหนาขึ้น เป็นการเพิ่มปริมาณเนื้อทุเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการช่วยลดสารเคมีเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตชาวสวน โดยสามารถนำมาใช้ซ้ำได้ถึง 3 ฤดูกาลผลิต เป็นการช่วยเกษตรกรประหยัดต้นทุนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) โดยจากงานวิจัยพบว่าทุเรียนที่ห่อด้วยถุง Magik Growth จะมีเปลือกบางลง 30% ทำให้น้ำหนักรวมของผลทุเรียนเพิ่มขึ้น 10% ขณะที่เนื้อจะแน่นขึ้นและมีสีเหลืองขึ้น และ แอพพลิเคชั่นตรวจวัดความสุกของทุเรียน พัฒนาจากการตรวจวัดด้วยคลื่นเสียง แสดงผลใน Application บนมือถือ เพื่อแสดงระดับความสุกของทุเรียนแต่ละลูก ช่วยให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวทุเรียนในระยะเวลาที่เหมาะสม ลดความเสียหายจากการตัดทุเรียนที่อ่อนเกินไป และช่วยให้ได้ราคาดีเนื่องจากทุเรียนมีความสุกพอดี โดยทีมงานนาโนเทค. และ GPSC จะเริ่มทยอยนำผลงานลงไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่สวนทุเรียน ณ อ.เขาชะเมา ในเดือน เม.ย.นี้ รวมถึงมีแผนที่จะขยายไปสู่การสนับสนุนการใช้ประโยชน์ในเกษตรกรรอบๆ พื้นที่ EECi อีกด้วย โดยมองไปถึงพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ที่สามารถนำมาต่อยอดด้วย วทน.ได้ เช่น กลุ่มพืชสมุนไพรอย่างกระชายดำ เป็นต้น
NANOTEC Newsletter: ความร่วมมือในครั้งนี้ ก่อให้เกิดประโยชน์กับภาคส่วนไหน อย่างไรบ้างคะ
ดร.ณรงค์ สวทช.: ต้องบอกว่า ความแข็งแกร่งของความร่วมมือในครั้งนี้คือ การเป็นความร่วมมือแบบไตรภาคี ทั้งภาควิจัยและพัฒนาอย่าง สวทช. เอง ภาคเอกชนที่เห็นความสำคัญและสร้างโอกาส สร้างประโยชน์ให้กับ ชุมชน ประชาชน รวมถึงภาคชุมชนเองก็พร้อมให้ความร่วมมืออย่างดีเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต
ประโยชน์ที่เกิดขึ้นนั้น ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ทั้งหมด ทั้ง สวทช. เองที่เราได้รับฟังปัญหาหรือข้อจำกัด ที่กลายเป็นโจทย์จากพื้นที่จริง นำไปสู่การพัฒนาและวิจัยที่ตอบความต้องการของผู้ใช้ นำไปใช้งานจริงให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภาคเอกชนอย่าง GPSC ก็สามารถดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เติบโตไปพร้อมกับชุมชน
ภาคชุมชนและประชาชนก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ยกระดับเศรษฐกิจชุนชนของตนเอง สร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีไปสู่ผู้บริโภคให้ได้กินใช้ของดีในประเทศ ที่สำคัญ ประเทศเราก็จะเข้มแข็ง และยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีฐานที่เราพัฒนาและใช้เพิ่มขีดความสามารถ ให้ไทยสามารถก้าวสู่เวทีโลกอย่างเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืน
คุณวรวัฒน์ GPSC: จากผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ทุกภาคส่วนได้รับความเดือดร้อนมีธุรกิจหลายแห่งขาดทุน และหลายธุรกิจไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ส่งผลต่อการจ้างงาน ดังนั้น การพัฒนาเกษตรอัจฉริยะนี้จะมีส่วนสำคัญในการรองรับผู้ที่ตกงานและกลับไปอยู่ภูมิลำเนา รวมถึงเด็กจบใหม่ ให้มีโอกาสเข้าถึงงานและอยู่ในท้องถิ่นของตนเองด้วยการเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ (Smart Farmer) ที่จะมาสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง ซึ่งโครงการนี้มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับปัจจัย 4 ด้าน ได้แก่ 1. ลดต้นทุนในกระบวนการผลิต 2. เพิ่มคุณภาพมาตรฐานการผลิตและมาตรฐานสินค้า 3. ลดความเสี่ยงในเรื่องการระบาดของศัตรูพืช และภัยธรรมชาติ และ 4. ถ่ายทอดองค์ความรู้โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มุ่งเน้นการพัฒนาโดยใช้พลังงาน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณภาพ และมาตรฐานที่จะนำไปสู่การสร้างโอกาส อาชีพ และรายได้อย่างยั่งยืนในภูมิภาคต่างๆ ของไทย โดยจะมีการขยายผลจาก 2 ชุมชนในระยะต่อไป
GPSC มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงการนำร่องทั้งสองแห่งตลอดระยะเวลา 3 ปีเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและเห็นผลที่เป็นรูปธรรม สามารถเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นต่อไปได้ ในขณะเดียวกันก็มีแผนที่จะขยายผลโครงการลักษณะเดียวกันนี้ไปยังชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECI) ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของทั้ง GPSC และ สวทช. โดยนวัตกรรมที่จะนำไปใช้จะขึ้นอยู่กับบริบทและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งในระหว่าง 3 ปีนี้ สวทช.อาจจะมีงานวิจัยและพัฒนาใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนเพิ่มขึ้นมาอีกก็ได้