นอกเหนือจากงานวิจัยในห้องปฏิบัติการ นักวิจัยของนาโนเทค สวทช. จำนวน 16 คน ยังมีโอกาสรับบท “นักวิจัยพี่เลี้ยง” ให้กับนักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน (วพศส.) จำนวน 32 คน ในกิจกรรมการอบรมด้านการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วยนาโนเทคโนโลยี (Research Training in Nanomedical Science) ซึ่ง NANOTEC Newsletter ฉบับนี้ จะพาไปฟังน้องๆ นศพ. และผู้บริหารของทั้งนาโนเทคและ วพศส. เล่าให้ฟังว่า กิจกรรมนี้ ดียังไง
กิจกรรมการอบรมด้านการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วยนาโนเทคโนโลยี (Research Training in Nanomedical Science) ระหว่างวันที่ 17-27 พฤษภาคม 2565 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยนี้ เป็นกิจกรรมนำร่องจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) และ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน (วพศส.) ที่ลงนามความร่วมมือทางด้านวิชาการ ด้วยมุ่งหวังสร้างความแข็งแกร่งทางวิชาการให้บุคลากร รวมถึงหนุนสร้างนวัตกรรมด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพจากองค์ความรู้ทางด้านนาโนเทคโนโลยี สู่ความยั่งยืนด้านการแพทย์และสาธารณสุขของไทย
ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทค สวทช. กล่าวในพิธีปิดกิจกรรมอบรมฯ ครั้งนี้ว่า ประทับใจในความตั้งใจ ความสามารถ และรู้สึกได้ถึงความสนใจ ความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้การทำงานวิจัยของนักศึกษาแพทย์ วพศส. ทำให้ความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานเป็นไปได้อย่างดี จากความร่วมแรงร่วมใจอย่างเต็มที่ เต็มกำลัง ซึ่งต้องขอบคุณ ศาสตราจารย์ ดร.พญ.จิรายุ เอื้อวรากุล คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นอย่างสูง รวมทั้งขอบคุณนักวิจัยพี่เลี้ยงของนาโนเทคและผู้ประสานงานกิจกรรมของทั้ง 2 หน่วยงาน
“โครงการนำร่องอบรมวิจัยระยะสั้นนี้ มีเนื้อหาต่างๆ ค่อนข้างมาก แต่เชื่อว่า ทุกท่านจะสามารถเก็บเกี่ยวองค์ความรู้และประสบการณ์ดีๆ ไปได้มากที่สุด และจะเป็นการเริ่มต้นที่เป็นประโยชน์สำหรับนักศึกษาแพทย์และนักวิจัยพี่เลี้ยงของนาโนเทค ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือที่ขยายวงกว้างขึ้นในลำดับต่อๆ ไป น้อง ๆ อาจจะต่อยอดงานวิจัยและพัฒนา ด้วยพื้นฐานทางการแพทย์ที่ตนเองมีไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคต และแน่นอนว่า บรรดานักวิจัยพี่เลี้ยงพร้อมช่วยเหลือและสนับสนุนเสมอ” ดร.วรรณีกล่าว พร้อมเชื่อว่า สำหรับความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานที่กำลังจะดำเนินการ เช่น การร่วมกำหนดหัวข้อวิจัยทางด้านตจวิทยา (ผิวหนัง) เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความร่วมมือในด้านอื่นๆ ที่จะทำให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศต่อไป
เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.ธนากร โอสถจันทร์ รองผู้อำนวยการนาโนเทค ที่มองไปในทิศทางเดียวกัน โดยกล่าวว่า เราคาดหวังให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กร ซึ่งก็คือ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และศูนย์นาโนเทค สวทช. โดยที่กิจกรรมอบรมฯ ในครั้งนี้ เป็นการเริ่มต้นให้ต่างฝ่ายต่างเห็นบรรยากาศจริง แพทย์ นักศึกษาแพทย์ ได้เห็นการทำงานด้านวิจัยและพัฒนา เช่นเดียวกับนาโนเทคเอง ก็จะได้ทราบถึงโจทย์ความต้องการทางการแพทย์ ที่จะนำไปสู่โจทย์วิจัย หรือความร่วมมือในระดับบุคลากรทางการแพทย์ องค์กร ต่อไปในอนาคต
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.พญ.จิรายุ เอื้อวรากุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ดีใจที่เราแสดงความสามารถในฐานะนศพ. รุ่นที่ 1 และแม้จะเป็นระยะเวลาอันสั้น ก็ถือว่า เป็นการเริ่มต้นสู่การทำวิจัยในระดับที่สูงขึ้น เช่น ยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน (University College London) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเราก็จะได้เข้าใจกระบวนการทำงานวิจัยและพัฒนา รู้จักวิธีปฏิสัมพันธ์กับนักวิจัย สร้างประสบการณ์ที่ดีที่จะนำไปสู่การต่อยอดในอนาคต
ความประทับใจ หลังการอบรมกับนักวิจัยนาโนเทค
NANOTEC Newsletter มีโอกาสได้พูดคุยกับน้อง นศพ. ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สนุก และประทับใจในนักวิจัยพี่เลี้ยง
น.ส. ปาณิชนก ปิยเบญจรัฐ และ น.ส.พิมพ์ภัทรา ลิมปิติกรานนท์ ที่มี ดร.ไพศาล ขันชัยทิศ เป็นนักวิจัยพี่เลี้ยง กล่าวว่า ประทับใจในการอบรมครั้งนี้มาก โดยเฉพาะนักวิจัยพี่เลี้ยงที่ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่และอบอุ่น แม้ว่าจะมีเวลาน้อยทำให้ไม่ได้ทำงานวิจัยมากนัก แต่ถือเป็นช่วงเวลาที่ได้สร้าง Mindset ที่ดีในเรื่องของการทำวิจัย รวมถึงเรื่องของ Microneedle ที่นักวิจัยพี่เลี้ยงและทีมที่น่ารักทุกคน เปิดโอกาสให้เราสอบถามได้ตลอด ช่วยเหลือเต็มที่
นายปัญญามณฑ์ แสงหิรัญ และนายภาคิน วงศ์พนาวิโรจน์ ที่มีดร.คทาวุธ นามดี เป็นนักวิจัยพี่เลี้ยง กล่าวว่า ตรงกับที่ตนเองคาดหวังไว้ก่อนเริ่มเข้าอบรม ได้ลงมือทำโครงการวิจัย รวมถึงกระบวนการทดลองต่างๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน รวมถึงได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่และหายาก ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เราศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อเตรียมตัวเองให้พร้อมก่อนลงมือทำแลป ทำให้สนุกมาก
น.ส.นภัสสร วัฒนกุล และ น.ส.ณิชารีย์ อุ่นแสงจันทร์ มี ดร.ดวงพร พลพานิชและ ดร.รวีวรรณ ถิรมนัส เป็นนักวิจัยพี่เลี้ยง กล่าวว่า ก่อนมาก็คาดหวังว่าจะได้เรียนรู้และลงมือทำการวิจัยและพัฒนา ซึ่งเมื่อได้เข้าร่วมการอบรม ก็ตรงกับที่คาดหวังไว้ ได้มาเรียนรู้กระบวนการทำวิจัยและพัฒนาที่ทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ได้เห็นของจริง และได้ลงมือทำ ที่สำคัญ ประทับใจพี่ๆ นักวิจัยพี่เลี้ยงมาก คอยสอน คอยให้ความช่วยเหลือตลอดเวลา