‘อนุภาคนาโนสำหรับการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์’
นาโนเทครับทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2563
การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ แต่เมื่อถึงเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เทคโนโลยี นวัตกรรมก็เข้ามามีบทบาทอย่างมาก เช่นเดียวกับงานวิจัย “การพัฒนาอนุภาคนาโนสำหรับการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์”ของ ดร.สุวัสสา บำรุงทรัพย์ ทีมวิจัยการวินิจฉัยระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (ศน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ต้องการนำความรู้และความเชี่ยวชาญทางนาโนเทคโนโลยี โดยเฉพาะการใช้อนุภาคนาโนมาประยุกต์ ในการพัฒนาไบโอเซ็นเซอร์หรือชุดตรวจสำหรับการวินิจฉัยโรคมะเร็ง มาช่วยให้การตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ความพยายามกว่า 9 ปี นอกจากออกดอกออกผลเป็นองค์ความรู้ นวัตกรรม ต้นแบบ รวมถึงสร้างคนรุ่นใหม่ในวงการนาโนเทคโนโลยีแล้ว ดร.สุวัสสา ยังได้รับรางวัลทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2563 อีกด้วย
งานวิจัย “การพัฒนาอนุภาคนาโนสำหรับการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์” นี้ เริ่มมาจากแนวคิดที่ต้องการเสริมประสิทธิภาพของการตรวจวินิจฉัยโรคต่างๆ ในระยะเริ่มต้นด้วยความแม่นยำ โดยวิธีการที่ไม่ยุ่งยากและใช้เวลาน้อย เป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาและลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งปัจจุบันนี้นาโนเทคโนโลยีสามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาไบโอเซ็นเซอร์เพื่อการตรวจวินิจฉัยโรคต่างๆ ได้อย่างเด่นชัด โดยเฉพาะการใช้อนุภาคนาโนมาใช้เป็นตัวตรวจวัด ให้สัญญาณ หรือขยายสัญญาณในการตรวจวินิจฉัยโรคซึ่งจะทำให้การตรวจวินิจฉัยและติดตามโรคมีความไว มีความจำเพาะ และถูกต้องแม่นยำมากขึ้น
งานวิจัยนี้ มุ่งเน้นไปที่การออกแบบและสังเคราะห์อนุภาคนาโนในกลุ่มของอนุภาคทองนาโน และอนุภาคซิลิกานาโนบรรจุสารฟลูออเรสเซนส์ รวมถึงการปรับปรุงคุณสมบัติทางเคมีของพื้นผิวอนุภาคนาโนให้เหมาะสมต่อการติดฉลากด้วยชีวโมเลกุล เช่น ดีเอ็นเอโพรบ แอปตาเมอร์ หรือแอนติบอดี เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาไบโอเซ็นเซอร์สำหรับการตรวจวิเคราะห์ตัวบ่งชี้ของโรค ด้วยเทคนิคเชิงแสง 2 เทคนิค ได้แก่ เทคนิคพื้นผิวขยายสัญญาณการกระเจิงแสงรามาน (surface enhance Raman scattering, SERS) และ เทคนิคฟลูออเรสเซนส์ (fluorescence) ซึ่งเป็นเทคนิคที่มีความไวสูง สามารถตรวจวิเคราะห์เป้าหมายได้หลายชนิดในเวลาเดียวกัน โดยสามารถนำไปประยุกต์ใช้การตรวจวิเคราะห์และตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นโรคที่ก่อให้เกิดอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆของโลก
นอกจากนี้ยังมีการขยายผลโดยการนำอนุภาคองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้พัฒนาชุดตรวจโรคติดเชื้อในกลุ่มไข้หวัดใหญ่ซึ่งมีการแพร่ระบาดในประเทศไทยและมีผู้เสียชีวิตทุกๆปี ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่าผลงานวิจัยนี้สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ในกระบวนการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันและลดอัตราการเจ็บป่วยของประชากรไทยจากโรคที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ
“เราอยากนำความรู้ทางนาโนเทคโนโลยี โดยเฉพาะการใช้อนุภาคนาโนมาประยุกต์ ในการพัฒนาไบโอเซ็นเซอร์หรือชุดตรวจสำหรับการวินิจฉัยโรคมะเร็ง เพื่อให้ได้เซ็นเซอร์ที่มีความไวและความแม่นยำสูง สามารถตรวจวินิจฉัยโรคในระยะเริ่มต้นได้ และสามารถใช้ตรวจติดตามโรคระหว่างการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งหวังว่า จะสามารถลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง รวมถึงสามารถขยายผลไปใช้กับการตรวจวินิจฉัยโรคอื่นๆ ด้วย” ดร.สุวัสสากล่าว
การทำงานอย่างต่อเนื่องกว่า 9 ปี ดร.สุวัสสาเผยว่า ปัจจุบัน เราได้ต้นแบบของอนุภาคนาโนชนิดต่างๆ รวมทั้งต้นแบบไบโอเซ็นเซอร์สำหรับคัดกรองมะเร็งและชุดตรวจเชื้อไข้หวัดใหญ่ในระดับห้องปฏิบัติการ โดยขณะนี้ มีความร่วมมือกับโรงพยาบาลต่างๆ อาทิ โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลขอนแก่น ในการทดสอบไบโอเซ็นเซอร์และชุดตรวจที่ได้กับตัวอย่างทางคลินิก เพื่อทดสอบความเป็นไปได้ในการใช้งานจริง รวมไปถึงการพัฒนาปรับปรุงไบโอเซ็นเซอร์เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานจริงในอนาคต
“งานวิจัยของเราจะช่วยให้การตรวจวินิจฉัยและติดตามโรคมีความไว มีความจำเพาะ และถูกต้องแม่นยำมากขึ้น และจะส่งผลให้การเฝ้าระวังและจัดการโรคมีประสิทธิภาพดีขึ้น ส่งผลให้สามารถลดอัตราการเสียชีวิตและทุพพลภาพของผู้ป่วย ลดผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้ป่วยและครอบครัว รวมไปถึงการลดค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยทั้งระดับครอบครัวและระดับประเทศ ซึ่งเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม” ดร.สุวัสสากล่าว พร้อมชี้ว่า นอกจากนี้ เราสามารถนำองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาระบบไบโอเซ็นเซอร์ไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อใช้ทดแทนชุดตรวจที่นำเข้าจากต่างประเทศ หรือสามารถส่งออกต่างประเทศ เพื่อเป็นการสร้างรายได้ และนำเสนอศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยอีกด้วย
สำหรับรางวัล “ทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2563” นับเป็นปีที่ 18 ที่บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยความร่วมมือกับสำนักเลขาธิการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) มอบทุนวิจัยเพื่อร่วมเชิดชูเกียรติสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์และสนับสนุนงานด้านการค้นคว้าและวิจัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับประเทศไทย ปัจจุบันมีนักวิจัยสตรีไทยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนี้รวมแล้วทั้งสิ้น 65 คน
“ปัจจุบัน การทำงานวิจัย รวมถึงอีกหลายอาชีพเปิดกว้างสำหรับผู้หญิง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ต่างมีความสามารถ และโอกาสในการเรียนรู้ โอกาสในการเข้าถึงการทำงานวิจัยได้ไม่ต่างกัน ส่วนตัวแล้ว ไม่ได้มองว่า ความเป็นผู้หญิงเป็นอุปสรรค แต่ในทางกลับกัน ความเป็นผู้หญิงนี้ มีส่วนช่วยทำให้เรามีความละเอียด มีความใส่ใจต่ออะไรเล็กน้อยๆ ซึ่งบางครั้งก็ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการทำงานวิจัย” ดร.สุวัสสาทิ้งท้าย