ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (ศน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) นำโดย ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการ ศน. พร้อมด้วย ดร.วรล อินทะสันตา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน, น.ส.สุพินยา อุปลกะลิน ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายธุรกิจนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี, น.ส.เบญญาภา สุวรรณ์ รก.ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายความร่วมมือและประชาสัมพันธ์ เข้าร่วมแสดงความยินดีในโอกาสที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ก้าวสู่ปีที่ 18 และร่วมลงนามความร่วมมือ “การยกระดับผลิตภัณฑ์ศิลปะหัตกรรมพื้นบ้าน ด้วยนวัตกรรมนาโน” ระหว่างศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. กับศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ด้วยเป้าหมายในการผลักดันผลงานนวัตกรรมและผลงานวิจัยและพัฒนาของ ศน. สู่การนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์จริงในชุมชน รวมถึงยกระดับผลิตภัณฑ์ศิลปหัตกรรมพื้นบ้าน สู่ผลิตภัณฑ์ระดับโลก
ภายในงาน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ประธานในพิธี ได้เยี่ยมชมผลงานนวัตกรรมของ ศน. สวทช. ที่จัดแสดงภายในงาน โดยมีดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการ ศน. พร้อมด้วย ดร.วรล อินทะสันตา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน ดร.ธันยกร เมืองนาโพธิ์ นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการทีมวิจัยนวัตกรรมเคลือบนาโน และ ดร.อัจฉรา แป้งอ่อน หัวหน้าห้องปฏิบัติการทีมวิจัยนวัตกรรมเส้นใยนาโน มาร่วมให้ข้อมูล
โดย ศน. นำผลงานวิจัยที่น่าสนใจมาจัดแสดงภายในงาน อาทิ กล่องรักปิดทองและกล่องผ้าไหมที่เคลือบด้วยสเปรย์สารเคลือบนาโนกันน้ำ น้ำมันและฝุ่น, บายศรีจากผ้าที่ผ่านการเคลือบสะท้อนน้ำ ผลิตภัณฑ์ชุมชนหนองป่าครั่ง ที่ช่วยลดการเปื้อน ลดปัญหาสีซีดจาง กลิ่นอับ, เครื่องประดับผ้าไหมและร่มบ่อสร้าง ที่ใช้การเคลือบสะท้อนน้ำ ลดการเปื้อนซึมจากสิ่งสกปรก ต้านแบคทีเรีย และต้านรังสียูวี ป้องกันสีซีดจางและการเสื่อมสภาพของเส้นใย
รวมไปถึง n-Breeze F Series ที่เป็นการเพิ่มคุณสมบัติให้ผ้าไทยที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นหน้ากาก ผ่านกระบวนการเคลือบน้ำยาเคลือบสิ่งทอสูตรสะท้อนน้ำและต้านเชื้อจุลชีพที่นาโนเทค สวทช. พัฒนาขึ้น ทำให้หน้ากากอนามัยผ้า n-Breeze มีสมบัติสะท้อนน้ำ ต้านเชื้อแบคทีเรีย และมีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นขนาดเล็กและละอองที่มีเชื้อไวรัส นอกจากนี้ การแผ่นผ้าหลายชั้นที่มีลักษณะเส้นใยและลวดลายในการถักทอที่เหมาะสม ทำให้ค่าการผ่านได้ของอากาศอยู่ในเกณฑ์กำหนด สามารถหายใจได้สะดวกกว่าหน้ากากอนามัยผ้าแบบทั่วไป ที่สำคัญ สามารถทำความสะอาดและนำกลับมาใช้ซ้ำได้