สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) จัดสัมมนา เทคโนโลยีการฟื้นฟูขั้นสูงเพื่อความงามและสุขภาพ (NSTDA Anti-Aging & Rejuvenation Symposium Emerging Rejuvenation Technology for Improving Beauty & Health) นำเสนอข้อมูลงานวิจัยและเทคโนโลยีด้านการฟื้นฟู (Rejuvenation) และการชะลอวัย (Anti-aging) รองรับเทรนด์การดูแลสุขภาพที่กำลังเป็นที่สนใจ ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย รองผู้อำนวยการ สวทช. สายงานบริหาร และทีมขับเคลื่อน Core Business : FoodSERP Platform กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการสัมมนาจากทั้งสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมด้านความงามและสุขภาพ จำนวนกว่า 120 คน เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 ณ ห้องประชุม CC-403 ชั้น 4 อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช.
เทรนด์การดูแลสุขภาพโดยเฉพาะเรื่องของการฟื้นฟู (Rejuvenation) และการชะลอวัย (Anti-aging) ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (aging society) ซึ่งไม่ได้จำเพาะแต่เพียงในกลุ่มของผู้สูงวัยเท่านั้น กลุ่มวัยกลางคนได้เริ่มมีการดูแลตัวเองแล้ว และการดูแลตัวเองในปัจจุบันครอบคลุมไปถึงการดูแลสุขภาพที่ดีและการยืดอายุขัย ซึ่งงานสัมมนาครั้งนี้ได้มีการนำเสนอข้อมูลงานวิจัยและเทคโนโลยีจากประสบการณ์ของนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้าน เวชศาสตร์การฟื้นฟูสภาวะเสื่อม (Regenerative medicine) การรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell therapy) การรักษาด้วย Exosome ที่หลั่งออกมาจากเซลล์ (Exosome therapy) ชีวนิเวศจุลชีพ (Microbiome) และการมุ่งเป้าจัดการเซลล์แก่ (Senotherapeutics) ซึ่งปัจจุบันองค์ความรู้ดังกล่าวได้มีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และการให้บริการในกลุ่มของผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง รวมถึงหัตการเพื่อความงาม เพื่อการต่อยอดงานวิจัยหรือนำไปเป็นข้อมูลประกอบทางธุรกิจ ซึ่ง สวทช. ได้มีการพัฒนางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ Aging อยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งการวิจัยเพื่อค้นหาสารออกฤทธิ์ใหม่ ๆ รวมถึงการวิเคราะห์ทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสารออกฤทธิ์ โดยการทำงานวิจัยร่วมกับภาครัฐ และการรับจ้างวิจัยและวิเคราะห์ทดสอบให้ภาคเอกชน
กิจกรรมแบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยในช่วงที่ 1 เป็นการบรรยายเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการฟื้นฟูเพื่อรักษาโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับสภาวะชรา และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรบรรยาย ได้แก่
1. ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์ สังกัด บริษัท รีไลฟ์ ไบโอเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด/ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช. บรรยายในหัวข้อ “Regenerative Medicine: A Big Leap toward the Fountain of Youth” โดยใช้ Regenerative Medicine เพื่อการซ่อมสร้างร่างกายมนุษย์ด้วยเทคโนโลยี Tissue Engineering ในการพัฒนา "กระจกตาชีวภาพ" โดยการสร้างเส้นใยขนาดเล็กคล้ายคอลลาเจนสานเป็นตาข่ายให้โครงสร้างและกลไกเหมือนกระจกตาจริง ซึ่งปัจจุบันการดำเนินการของ NSTDA Startup ภายใต้บริษัท รีไลฟ์ จำกัด ได้มีการลงทุน Infrastructure เพื่อขอรับรองมาตรฐาน GMP PIC/S
2. พ.ท.นพ.ปริญญา สมัครการไถ สังกัด กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า บรรยายในหัวข้อ “New Horizons in Longevity Research—Latest Evidence on Health Span and Life Span Extension” จากการดูแลผู้ป่วยพบว่า โรคอ้วนและโรคเบาหวานเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาสุขภาพและการแก่เร็ว คนเราอยากไม่ได้อยากเพิ่ม Life Span เพื่อให้มีอายุขัยยืนยาว แต่อยากมี Health Span เพิ่มขึ้น เพื่อให้มีอายุขัยที่มีสุขภาพสมบูรณ์ ซึ่งการเพิ่ม Health Span สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยการนอนที่ดี ไม่สูบบุหรี่ การออกกำลังกาย การควบคุมแคลอรี่ และการอดอาหารเป็นช่วง ๆ (Intermittent Fasting; IF) สามารถชะลอการแก่ของเซลล์และภาวะอัลไซเมอร์ ทำให้มีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบว่ายาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคกระดูกพรุน ที่มีประสิทธิภาพในการช่วยยับยั้งกลไกที่เกี่ยวข้องกับสภาวะชราอีกด้วย
3. ศาสตราจารย์ ภก.ดร.ปิติ จันทร์วรโชติ สังกัด คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายในหัวข้อ “Stem Cell Regeneration--an Emerging Target for Cosmeceutical Products” จากการศึกษาการใช้สารที่มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของสเต็มเซลล์ โดยมีการนำสมุนไพรออร์กานิคที่มีมาตรฐาน ภายใต้โครงการรักษ์ป่าน่าน มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอางของบริษัท จุฬาฟาร์เทค จำกัด คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งช่วยสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรในพื้นที่
4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรัณยู พลนิกร สังกัด วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายในหัวข้อ “Exosomes: The Next Big Thing in the Health & Beauty Industry?” ปัจจุบันมีการพัฒนา Exosomes มาใช้ในการบริการหัตการเพื่อความงาม ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากช่วงที่ผ่านมา เพื่อใช้รักษาโควิด ซึ่งปัจจุบัน FDA เกาหลีได้ยอมรับให้ใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้ ซึ่งในอนาคตอาจสามารถพัฒนาต่อยอดโดยใช้ Engineering cell หรือ Personalized exosome ให้เหมาะสมกับแต่ละคนได้ อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยยังต้องการการพัฒนางานวิจัย Exosomes ทั้งด้านมาตรฐาน รวมทั้งการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพตาม Guideline ที่ อย. กำหนด
5. ดร.ธวิน เอี่ยมปรีดี สังกัด ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. บรรยายในหัวข้อ “Is Targeting ‘Zombie Cells’ a New Avenue for the Beauty World?” นำเสนอนวัตกรรมสารสกัดธรรมชาติ “ZenoLase” ซึ่งเป็น Senolytic Ingredient ที่สามารถยับยั้งเซลล์ซอมบี้ (Senescent Cell) ซึ่งเป็นเซลล์ที่ไม่ตาย แต่สามารถสะสมในร่างกาย นำไปสู่ภาวะชราภาพและโรคต่าง ๆ ที่มาพร้อมกับวัยที่สูงขึ้น ซึ่ง ZenoLase ผ่านการทดสอบการระคายเคืองและการทดสอบประสิทธิภาพชะลอวัย สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเวชสำอางได้ นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังมีการพัฒนาระบบการวิเคราะห์ทดสอบ Molecular beauty ที่พร้อมให้บริการเทคนิคแก่ผู้ประกอบ ครอบคลุมตั้งแต่การทดสอบประสิทธิภาพ (Efficacy) และความปลอดภัย (Safety) ของสารออกฤทธิ์ เวชสำอาง เสริมอาหาร โดยใช้โมเดลผิวหนังคน ทั้งในระดับเซลล์ (2D cells) เนื้อเยื่อผิวหนังสามมิติ (3D skin) และผิวหนังที่ได้จากอาสาสมัคร (Ex vivo skin) รวมถึงการทดสอบเพื่อขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เวชสำอางสมุนไพรอีกด้วย
จากนั้น ในช่วงที่ 2 เป็นการเสวนาหัวข้อ “Deep Tech Innovations—the Journey from Bench to Market” เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผลักดันผลงานวิจัยด้านการฟื้นฟูและการชะลอวัยที่มีการใช้เทคโนโลยีเชิงลึก (Deep technology) รวมถึงแนวทางในการนำเทคโนโลยีไปต่อยอดให้เกิดการ Commercialization ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย คุณกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ กรรมการ/ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) และทีมวิทยากรจากช่วงบรรยาย ได้แก่ ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์, พ.ท.นพ.ปริญญา สมัครการไถ, ศาสตราจารย์ ภก.ดร.ปิติ จันทร์วรโชติ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรัณยู พลนิกร ร่วมสวนา โดยมี ดร.วงศกร พูนพิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการความร่วมมือวิจัยขนาดใหญ่ สวทช. และ ดร.ธวิน เอี่ยมปรีดี เป็นผู้ดำเนินรายการ
กลไกการสนับสนุนให้เกิดธุรกิจในรูปแบบ Startup ของแต่ละหน่วยงานมีความแตกต่างกัน ภาคการศึกษาทั้งส่วนของอาจารย์และหลักสูตรต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย โดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ มีคณะกรรมการคัดเลือกผลงานวิจัยที่เหมาะสมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำให้อาจารย์และนิสิตได้เรียนรู้กับผู้ที่มีประสบการณ์จริงจากภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนาธุรกิจร่วมกับภาคเอกชน สำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการสร้างศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อการวิจัยขั้นสูง เพื่อรองรับงานวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำตลอดจนการทดสอบในสัตว์ทดลองและในอาสาสมัคร รวมทั้ง กลไกการสนับสนุนบ่มเพาะผู้ประกอบ และสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับธุรกิจ สำหรับ สวทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยและมีสนับสนุน Deep-tech Startup โดยการ Spin-off เพื่อเข้าโครงการ "NSTDA Startup" มีเงื่อนไขไม่ยุ่งยากมากนัก แต่ Deep-tech จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนส่วนของวิจัยค่อนข้างมาก ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดในการหานักลงทุน และควรต้องมีทีมสนับสนุนที่มีประสบการณ์จริงในการทำธุรกิจด้านความงามและสุขภาพ
ปัจจัยที่สำคัญที่จะสามารถ transfer จากงานวิจัย มาสู่ commercialization ให้เกิดเป็น Deep-tech startup ส่วนของ Product properties อาจไม่ใช่เรื่องที่สำคัญที่สุด เนื่องจากธุรกิจด้าน Health & Wellness ตลาด Mass Marketing มีการแข่งขันทางธุรกิจสูงมาก แต่การสร้างการรับรู้ของเทคโนโลยีในวงกว้างเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและมีทางเลือกหลากหลายในการเปรียบเทียบข้อมูล อย่างไรก็ตาม การผลักดันงานวิจัยสู่ภาคธุรกิจ Passion และความเชี่ยวชาญในงานวิจัยของนักวิจัยอาจไม่เพียงพอที่จะประสบความสำเร็จได้ ต้องสอดคล้องกับเทรนด์ของโลก และควรสร้างข้อมูลสนับสนุนผลงานให้พร้อมอยู่เสมอ โดยควรมีเป้าหมายที่ชัดเจนตั้งแต่แรกเริ่ม และต้องเผยแพร่เพื่อสร้าง Visibility ของผลงาน เพื่อทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เช่น การแข่งขัน Pitching และการประกวดรางวัลต่าง ๆ แม้ว่าองค์ความรู้ของเทคโนโลยีจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญ แต่ Story เป็นศิลปะที่ช่วยสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ ซึ่งจะช่วยสร้าง Impact และทำให้เกิด Ecosystem เชื่อมโยงนวัตกรรมสู่ธุรกิจ และเพิ่มโอกาสในการดึงดูดนักลงทุน โดยการสร้าง Ecosystem บูรณาการระหว่าง R&D และ Business ต้องอาศัยการทำงานร่วมกัน ให้เห็นภาพเดียวกัน “ทำคนเดียวอาจจะไปได้ไว แต่ถ้าจะไปได้ไกลต้องทำด้วยกัน” และข้อกำจัดในการผลักดัน Deep-tech ส่วนของ Regulation ควรเข้าให้ถูกคน ซึ่งในการเตรียมเอกสาร อย. จะพิจารณาเอกสารตามมาตรฐานที่กำหนดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การบูรณาการระบบการจัดการ FDA approval ควรมีรวบรวมเป็น National Agenda เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันในรูปแบบ Consortium ทั้งนี้ ประเทศไทยมีโอกาสด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่สามารถนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ในธุรกิจด้านความงามและสุขภาพ หากสามารถคัดเลือกสารที่มีศักยภาพที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเพิ่ม Life Span ได้จริง โดยการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายวิจัยและภาคเอกชน จะช่วยผลักดันและพัฒนางานวิจัยด้านสมุนไพรและธุรกิจด้าน Health & Wellness ไปได้ไกลและเร็วขึ้น