นาโนเทค สวทช. จับมือเครือข่ายพันธมิตรเดินหน้าโครงการ CCUS TRM ลงพื้นที่ กฟผ.แม่เมาะ หารือแนวทางความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) นำโดย ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการนาโนเทค พร้อมด้วยผู้บริหาร และนักวิจัย เข้าเยี่ยมชมเหมืองแม่เมาะ และการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แนวทางการวิจัยพัฒนา และหารือความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS technology) ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อรวบรวมข้อมูลสำคัญภายใต้การดำเนินโครงการแผนที่นำทางเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน เพื่อนำทางประเทศไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (CCUS TRM : Navigating Thailand towards Carbon Neutrality) ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ในฐานะผู้แทนแหล่งทุนอุดหนุนวิจัยเข้าร่วมกิจกรรมลงพื้นที่ พร้อมด้วยเครือข่ายพันธมิตรภายใต้โครงการฯ นำโดย รศ. ดร. ณัฐสิทธิ์ เกิดศรี หัวหน้าทีมวิจัยและปฏิบัติการด้านการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ TIME Labs ม.มหิดล และ ผศ.ดร.สุพฤทธิ์ ตั้งพฤทธิ์กุล และคณาจารย์จากคณะวิศกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การลงพื้นที่ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังแนวทางการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาด้าน CCUS technology ของ กฟผ. โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน และการศึกษาความเป็นไปได้ของการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Storage: CCS) ของ กฟผ. ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ด้าน CCUS technology เพื่อประกอบการจัดทำโครงการ CCUS Technology Roadmap ของทีมวิจัยนาโนเทค และเครือข่ายพันธมิตร รวมทั้งหารือแนวทางความร่วมมือการวิจัยพัฒนา CCUS technology ร่วมกันในฐานะเครือข่ายนักวิจัยทางด้าน CCS และ CCU

ภายใต้กิจกรรม ณ ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (แม่เมาะ) นายประจวบ ดอนคำมูล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ (ชชม.) ได้ให้เกียรติกล่าวต้อนรับทีมเยี่ยมชมฯ พร้อมให้ข้อมูลภารกิจหลักของ กฟผ.แม่เมาะ ด้านการการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหินลิกไนต์ และแผนการดำเนินงานที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยมีแผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) แม่เมาะ เพื่อนำร่องติดตั้งใช้ในการดำเนินงานในการทำเหมือง และยังได้วางแผนพัฒนาต่อเนื่องไปจนถึงปี 2592 ให้สามารถมีกำลังผลิตรวม 2,405 เมกะวัตต์ รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เพื่อทำหน้าที่เป็นแบตเตอรี่ร่วมกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และการศึกษาความเป็นไปได้ของการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Storage: CCS) รวมถึง โครงการทดลองนำชีวมวลอัดเม็ดเผาไหม้ร่วมกับถ่านหินของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ

ดร.วรรณี กล่าวว่า การลงพื้นที่ กฟผ. แม่เมาะในครั้งนี้ ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการจัดทำโครงการ CCUS Technology Roadmap โดย กฟผ. แม่เมาะ ถือเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทและให้ความสำคัญต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของไทย ภายใต้การประยุกต์ใช้ CCUS technology และการใช้พลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ของ กฟผ. ถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะสามารถร่วมกันขับเคลื่อน CCUS TRM ให้เชื่อมโยงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศในอนาคตอันใกล้ต่อไป

 

ข้อมูลและภาพ: ทีมเลขา CCUS TRM