นักวิจัยนาโนเทค สวทช. ผลงานโดดเด่นได้รับทุนในโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ประจำปี 2565

ศ.ดร. ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ พร้อมด้วย ดร. อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ให้เกียรติร่วมแสดงความยินดีและมอบช่อดอกไม้ให้กับ ดร. อัญชลี จันทร์แก้ว นักวิจัยทีมวิจัยการคำนวณระดับนาโน กลุ่มวิจัยการเร่งปฏิกิริยาและการคำนวณระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้ได้รับทุนในโครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) “สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ” ครั้งที่ 20 ประจำปี 2565 โดยมี ดร.ขจรศักดิ์ เฟื่องนวกิจ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการเร่งปฏิกิริยาและการคำนวณระดับนาโน และคณะนักวิจัยร่วมแสดงความยินดี งานดังกล่าวจัดโดย บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ณ โรงแรม พลาซ่าแอทธินี กรุงเทพ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา

ดร.อัญชลี จันทร์แก้ว นักวิจัยสตรีผู้ได้รับทุนโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ประจำปี 2565 จากผลงานวิจัยหัวข้อ “บูรณาการระเบียบวิธีศึกษาทางทฤษฎีเพื่อพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธ์และวัสดุขั้นสูงสำหรับโรงกลั่นชีวภาพและสิ่งแวดล้อม” กล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพสูง การผลิตสารเคมีชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มจากชีวมวลและของเหลือใช้ทางการเกษตรในโรงกลั่นชีวภาพจึงสำคัญยิ่ง เพื่อสร้างมูลค่าให้ทรัพยากรอย่างเต็มศักยภาพ งานวิจัยนี้มุ่งเน้น 2 ประเด็นหลัก คือ เพื่อพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธุ์และวัสดุขั้นสูงที่ราคาเหมาะสมเพื่อใช้ในกระบวนการสังเคราะห์สารมูลค่าเพิ่มจากชีวมวลในโรงกลั่นชีวภาพ และการพัฒนาวัสดุดูดซับและตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธุ์ในการบำบัดก๊าซมลพิษ

งานวิจัยนี้ประยุกต์ใช้การคำนวณด้วยระเบียบวิธีฟังก์ชันนอลความหนาแน่น (DFT) ร่วมกับระเบียบวิธีทางทฤษฎีอื่นเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นถึงในระดับอะตอมและบูรณาการร่วมกับการทดลองในห้องปฏิบัติการ โดยสร้างชุดความรู้ที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจเชิงลึกต่อคุณสมบัติทางโครงสร้างและปัจจัยบ่งชี้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพของวัสดุตามวัตถุประสงค์การใช้งาน โดยมีทั้งส่วนการปรับปรุงประสิทธิภาพวัสดุที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น หรือพัฒนาวัสดุชนิดใหม่เพื่อประยุกต์ใช้ในงานที่ศึกษา มีเป้าหมายสำคัญคือการผลักดันสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์ต่อไป การประยุกต์ใช้วิธีศึกษาทางทฤษฎีร่วมกับการทดลองช่วยร่นเวลาและลดค่าใช้จ่ายในการวิเคราะห์ทดสอบวัสดุใหม่ๆ ในห้องปฏิบัติการ ลดความเสี่ยงการสัมผัสสารพิษในห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้ผลการศึกษาจากงานวิจัยสร้างประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมโรงกลั่นชีวภาพและสามารถขยายผลต่อยอดอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ การผลิตพลาสติกย่อยสลายได้ อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก อุตสาหกรรมยา เป็นต้น ซึ่งมีผลกระทบทั้งในระดับประเทศและในระดับนานาชาติ

ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ มีนักวิจัยได้รับทุนในโครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) รวม 5 ท่าน ดังนี้ ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย (ปี 2554) ดร.สุภาวดี นาเมืองรักษ์ (ปี 2559) ดร. ผุศนา หิรัญสิทธิ์ (ปี 2560) ดร.สุวัสสา บำรุงทรัพย์ (ปี 2563) และ ดร.อัญชลี จันทร์แก้ว (ปี 2565) ตามลำดับ

โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) เริ่มขึ้นในปี 2540 โดย มูลนิธิลอรีอัล ด้วยความร่วมมือจากยูเนสโก แต่ละปีได้สนับสนุนนักวิจัยสตรีรุ่นใหม่มากกว่า 250 ท่าน ในโครงการระดับประเทศและระดับภูมิภาคทั่วโลก และได้มอบทุนเกียรติยศนานาชาติแก่นักวิจัยสตรีระดับ Laureates ไปแล้วกว่า 120 ท่าน โดยในประเทศไทย โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) มอบทุนวิจัยทุนละ 250,000 บาท ให้กับนักวิจัยสตรีที่มีอายุไม่เกิน 40 ปี ใน 2 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ลอรีอัล ประเทศไทยได้ดำเนินงานโครงการมาเป็นปีที่ 20 โดยมีนักวิจัยสตรีไทยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนี้ รวมแล้วทั้งสิ้น 81 ท่าน จาก 20 สถาบัน