เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.): ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. พร้อมด้วย ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. นำทีมนักวิจัย สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร โดยมี ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ร่วมเป็นเกียรติในงานแถลงข่าวการจัดการประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 18 (18th NSTDA Annual Conference: NAC2023) ภายใต้แนวคิด “สวทช. : ขุมพลังหลัก วทน. เร่งการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่ความยั่งยืน” (NSTDA: STI powerhouse to drive BCG economy for Thailand’s sustainable development) โดยจัดออนไซต์เต็มรูปแบบที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ระหว่างวันที่ 28-31 มีนาคมนี้
นักวิจัยนาโนเทค สวทช. โดย ดร.วรล อินทะสันตา และ ดร.คทาวุธ นามดี ร่วมนำผลงาน ‘iPlant Multipurpose Spray’ และ อนุภาคนาโนนำส่งสารกลุ่มกัญชา-กัญชง งานแถลงข่าวฯ เพื่อนำเสนอภาพความสำเร็จจากการขับเคลื่อน BCG จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะช่วยให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ
ครั้งแรกกับ‘iPlant Multipurpose Spray’ สเปรย์เติมความ “สด” ให้พืช
ดร.วรล อินทะสันตา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน นาโนเทค กล่าวว่า ปัจจุบัน สภาพอากาศเป็นปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโตและความอยู่รอดของพืช สภาพอากาศที่เหมาะสมจะเป็นตัวแปรสำคัญในการดำรงชีวิตของพืช โดยทั่วไป อากาศที่ร้อนจัดมักจะส่งผลกระทบต่อพืชได้มากกว่าอากาศหนาว เนื่องจากอากาศร้อนจะทำให้พืชเกิดการคายน้ำอย่างรุนแรง และนำมาซึ่งการเสียสมดุลของน้ำภายในพืช จนกระทั่งทำให้พืชเหี่ยวเฉาและตายในที่สุด
งานวิจัยนี้ เป็นการพัฒนาสเปรย์ทำความเย็นอัดแก๊สแรงดันสูงที่มีส่วนประกอบของสารสกัดจากธรรมชาติรวมถึงธาตุอาหารเสริมและรอง เพื่อช่วยลดอุณหภูมิภายในของพืช รวมถึงลดการคายน้ำจากอากาศที่ร้อนจัด และทำให้พืชสามารถทนทานกับสภาพแวดล้อมที่รุนแรงได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งปกติ ไม้เมืองหนาวที่ต้องอยู่ในสภาพอากาศร้อนถึงร้อนจัดในไทย ทำให้พืชมีความเครียดเนื่องจากต้องสูญเสียน้ำโดยเฉพาะทางใบ การรดน้ำต้นไม้ช่วยได้ในระดับหนึ่งและเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่มีต้นทุนสูงสำหรับบางพื้นที่ ดร.วรลเผยว่า เมื่อนำสเปรย์ทำความเย็น iPlant มาประยุกต์ใช้พ่นบนใบของพืชพบว่า ได้ผลดี สามารถลดอุณหภูมิได้มากถึง 2-3 องสาเซลเซียส ยืดเวลาในการเหี่ยวเฉาออกไปได้ iPlant สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับไม้เมืองหนาวเช่นต้นกุหลาบ ต้นไฮเดรนเยีย และต้นไซคลาเมน ซึ่งเป็นกลุ่มของไม้เมืองหนาวที่มีราคาสูงและทำรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นจำนวนมาก
อนุภาคนาโนนำส่งสารกลุ่มกัญชา-กัญชง ติดปีกอุตสาหกรรมเวชสำอาง
ดร.คทาวุธ นามดี จากทีมวิจัยเวชศาสตร์นาโน กลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน นาโนเทค กล่าวว่า แม้สารสกัดจากกัญชา-กัญชงจะมีฤทธิ์ที่น่าสนใจหลายอย่าง แต่การนำสารสกัด CBD ไปใช้ในทางการแพทย์นั้นยังมีข้อจำกัดอยู่หลายด้าน เช่น การละลาย ซึ่งพบว่า CBD มีชีวประสิทธิผลต่ำเนื่องจากความสามารถในการละลายน้ำได้น้อยและส่งผลให้การดูดซึมสารสกัดไม่สมบูรณ์ อีกทั้งปัจจัยด้านความคงสภาพของสารสกัด CBD เสื่อมสภาพได้จากอุณหภูมิ แสง ค่าความเป็นกรด-ด่าง และปฏิกิริยาออกซิเดชั่นเมื่อสัมผัสกับออกซิเจนในอากาศ และข้อจำกัดด้านการนำส่งสารสกัดผ่านผิวหนัง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถส่งผ่านสารสกัดได้ แต่อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพในการส่งสารผ่านผิวหนังนั้นยังไม่สูงเท่าที่ควร เนื่องจากสารสกัดประกอบด้วยโมเลกุลที่ละลายได้ดีในน้ำมัน ซึ่งจะสะสมอยู่ที่หนังกำพร้าชั้นนอก และไม่สามารถซึมผ่านลงไปได้ทั้งหมด
จากข้อจำกัดดังกล่าว ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาอนุภาคนาโนเพื่อการนำส่งสารสกัดจากพืชตระกูลกัญชง-กัญชา ซึ่งช่วยให้สารสกัดมีความสามารถในการกระจายตัวในน้ำ ทำให้สามารถประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย โดยเฉพาะในกลุ่มเวชสำอาง หรือผลิตภัณฑ์สำหรับสปา/เวลเนส ที่เดิมมักเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มน้ำมัน หรือครีมเนื้อหนัก ที่สำคัญ อนุภาคนาโนฯ นี้ ยังลดความเป็นพิษจากสารสกัดโดยตรงและเพิ่มประสิทธิภาพทางเภสัชวิทยา ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาด้านต่างๆ ต่อไป
28-31 มีนาคมนี้ NAC2023 ขอเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 18(18th NSTDA Annual Conference: NAC2023) ภายใต้แนวคิด “สวทช. : ขุมพลังหลัก วทน. เร่งการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่ความยั่งยืน” ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ดูไฮไลต์ที่น่าสนใจและลงทะเบียนร่วมงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่
www.nstda.or.th/nac หรือโทรศัพท์ 02564 8000