“ริเชอรัลจากสารสกัดเห็ดหลินจือ- ไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตจากเปลือกหอยมุก” 2 นวัตกรรมนาโนเทค สวทช. คว้ารางวัลจากเวที SIIF 2022

นักวิจัยนาโนเทค สวทช. นำนวัตกรรมความงามอย่างริเชอรอล เนเชอรัล เฟเชียว ซีรั่ม ที่ใช้เทคโนโลยีการกักเก็บอนุภาคสารสกัดเห็ดหลินจือ และไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตจากเปลือกหอยมุกสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ไปคว้ารางวัลเหรียญทองและทองแดงจากเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติในงาน Seoul International Invention Fair 2022 (SIIF 2022) ณ สาธารณรัฐเกาหลี

การประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติในงาน Seoul International Invention Fair 2022 (SIIF 2022) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2565 ซึ่ง SIIF เป็นเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติที่มีขนาดใหญ่และสำคัญมากในเอเชีย ในแต่ละปีมีผลงานสิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากประเทศต่างๆ  เข้าร่วมนำเสนอและประกวดกว่า 1,000 ผลงาน โดยนักวิจัย ศน.ได้นำผลงานวิจัยไปร่วมประกวดและสามารถคว้ารางวัลจากงาน

จากโรงเพาะเห็ดหลินจือ สู่ผลิตภัณฑ์เพื่อผิวพรรณ

ริเชอรอล (REISHURAL) ได้รับรางวัลเหรียญทอง (Gold Prize) จาก SIIF 2022 โดยเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่ต่อยอดมาจากงานวิจัยเรื่อง การพัฒนากรรมวิธีสกัดสารสำคัญจากดอกและสปอร์เห็ดหลินจือและระบบอนุภาคนาโนเพื่ออุตสาหกรรมเวชสำอาง ที่ ดร.ธงชัย กูบโคกกรวด และคณะจากทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตและเวชสำอาง กลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)ได้พัฒนากระบวนการสกัดดอกเห็ดหลินจือ ร่วมกับบริษัท ฟาร์มคิดดี จำกัด และขอทุนวิจัยจากโปรแกรม INNOVATIVE HOUSE (ปัจจุบันอยู่ภายใต้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ วช.)  ซึ่งในตอนนั้น (พ.ศ.2560) อยู่ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

สารสกัดเห็ดหลินจือที่ได้นั้น พบสารสำคัญหลักคือ Ganoderic acid A และ Ganoderic acid C2 จึงได้ต่อยอดพัฒนาระบบกักเก็บสารสำคัญ พร้อมกับพัฒนาระบบอนุภาคนิโอโซม เพื่อกักเก็บสารสกัดเห็ดหลินจือ ซึ่งมีขนาดอนุภาคช่วง 144.6 ถึง 308.3 นาโนเมตร และประสิทธิภาพการห่อหุ้ม 96.67% ทำให้อนุภาคนี้กระจายตัวได้ดี มีความคงตัว มีความปลอดภัยในการเพาะเลี้ยงเซลล์ไฟโบรบลาสต์ และมีความปลอดภัยเมื่อสัมผัสผิวหนังในมนุษย์ ที่สำคัญคือ อนุภาคสามารถนำส่งสารสำคัญเข้าสู่ผิวได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 4.640 ถึง 97.44 ในเวลา 24 ชั่วโมง

อนุภาคกักเก็บสารสกัดเห็ดหลินจือที่ได้ ได้ยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของอนุภาคในชื่อ ริชโอโซม (REISHOSOME) และได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เซรั่มบำรุงผิวหน้าที่มีส่วนผสมของริชโอโซมที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และมีการทดสอบในอาสาสมัครทั้งการระคายเคืองผิวหนัง (Irritation test) และประสิทธิศักย์ (Efficacy test) โดยผลการทดสอบประสิทธิศักย์พบว่า ผลิตภัณฑ์เซรั่มบำรุงผิวสามารถช่วยริ้วรอยแลดูลดเลือน ทำให้ผิวหน้ากระจ่างใส และมีความชุ่มชื่นเพิ่มขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ในอาสาสมัคร และจดแจ้ง อย. ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ริเชอรอล (REISHURAL) ในงานวิจัยนี้ตอบนโยบาย BCG และสร้างรายได้กับเกษตรกร และบริษัทที่รับถ่ายทอดเทคโนโลยี สร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคจากฟาร์ม เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางนวัตกรรม

แปลงเปลือกหอยมุกเหลือทิ้งเป็นไบโอแคลเซียมคาร์บอเนต

ในขณะเดียวกัน ไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ก็ได้รางวัลเหรียญทองแดง (Bronze Prize) จาก SIIF 2022 เช่นกัน โดย ดร.ชุติพันธ์ เลิศวชิรไพบูลย์ นักวิจัยจากทีมวิจัยการวินิจฉัยระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน นาโนเทค สวทช. กล่าวว่า แผ่นเปลือกหอยมุกเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมเครื่องประดับที่มีอยู่จำนวนมาก และยังไม่มีวิธีการจัดการที่เหมาะสม แต่ด้วยเป็นแผ่นเปลือกหอยมุกคุณภาพสูงที่มีโครงสร้างสถาปัตยกรรมระดับนาโนเมตรทางธรรมชาติแบบเดียวกับที่พบในมุก ที่มีแคลเซียมคาร์บอเนตความบริสุทธิ์สูง ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาวิธีการแปรรูปไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตจากแผ่นเปลือกหอยมุกด้วยนกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานต่ำและไม่สร้างของเสียเพิ่มเติม

" แคลเซียมคาร์บอเนตที่พบในแผ่นเปลือกหอยมุกเป็นแคลเซียมคาร์บอเนตความบริสุทธิ์สูง สีขาว และมีความสามารถในการดูดซับที่ดี โดยเป็นผงมุกแคลเซียมคาร์บอเนตคุณภาพสูงที่ได้มาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมด้านเวชสำอาง ด้านอาหารและสุขภาพ" ดร.ชุติพันธ์กล่าว พร้อมชี้ว่า ทีมวิจัยได้พัฒนากระบวนการแปรรูปเป็นการใช้ความร้อนและสารเคมีในการทำลายสารอินทรีย์ที่เป็นตัวเชื่อมแผ่นแคลเซียมคาร์บอเนตซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของแผ่นเปลือกหอยมุกโดยไม่ทำลายแผ่นแคลเซียมคาร์บอเนต

เมื่อนำไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตที่แปรรูปได้มาวิเคราะห์ทดสอบอย่างเป็นระบบ พบว่า รูปร่างของไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตที่แปรรูปได้มีลักษณะเป็นแผ่นซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอื่นๆ ที่แคลเซียมคาร์บอเนตทั่วไปไม่สามารถทำได้ เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น สีกลิตเตอร์จากธรรมชาติ (natural glitter pigment) เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตที่แปรรูปได้มีขนาดที่หลากหลายโดยแต่ละขนาดมีคุณสมบัติเด่นที่แตกต่างกัน เช่น ขนาดเล็กสามารถกระตุ้นให้เกิดฟองได้เร็ว ขนาดประมาณ 100 ไมครอน ใช้สำหรับขัดผิว เป็นต้น ซึ่งนวัตกรรมจากงานวิจัยนี้ผ่านการวิเคราะห์ทดสอบและทำมาตรฐานสินค้าแล้ว พร้อมสำหรับการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรม อาทิ ยาสีฟัน สบู่ขัดผิว ผงขัดผิว

การแปรรูปแผ่นเปลือกหอยมุกเหลือทิ้งเป็นผงมุกแคลเซียมคาร์บอเนตนอกจากเป็นการแก้ปัญหาวัสดุเหลือทิ้งให้กับผู้ประกอบการ (Zero Waste) แล้วยังเป็นการดำเนินงานภายใต้นโยบายการพัฒนานวัตกรรที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการสร้างมูลค่าให้กับวัสดุเหลือทิ้ง (Waste-to-Wealth) โดยการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบโดยคนไทยเพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการไทย ให้สามารถลดต้นทุนการผลิตจากการใช้วัตถุดิบไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตที่ผลิตในประเทศ ลดการพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ สร้างโอกาสเชิงพาณิชย์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากไบโอแคลเซียมคาร์บอเนต นำไปสู่การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลกอย่างยั่งยืน