วันที่ 11 กันยายน 2566 ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ดร.วีรกัญญา มณีประกรณ์ และ ดร.กันตพัฒน์ จันทร์แสนภักดิ์ ทีมวิจัยวัสดุตอบสนองระดับนาโน เข้าร่วมกิจกรรมสรุปผลการดำเนินงาน การให้คำปรึกษาเชิงลึก กิจกรรมส่งเสริมการต่อยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่ภาคอุตสาหกรรม (Research Connect) ภายใต้โครงการการเร่งการจัดตั้งและขยายธุรกิจของผู้ประกอบการอัจฉริยะ ปีงบประมาณ 2566 จัดโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ณ โรงแรมริเวอร์ไรน์เพลส โฮเทล แอนด์ เรสซิเดนซ์ จ.นนทบุรี ภายใต้กิจกรรมดังกล่าวมีผู้ประกอบการ นักประดิษฐ์ วิศวกร และนักวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ ส่งผลงานนวัตกรรมเข้าร่วม รวม 19 ผลงาน และมีการคัดเลือก 15 ผลงานผ่านการคัดเลือก โดยมีผลงานที่ถูกคัดเลือกเป็น “Success case” เพื่อเข้าสู่กระบวนการส่งเสริมสู่การนำไปใช้ประโยชน์จริง จำนวน 4 ผลงาน โดยผลงานของนาโนเทค สวทช. ที่ส่งเข้าร่วม ได้แก่ “เซ็นเซอร์ตรวจวัดโลหะหนักในน้ำและพืชสมุนไพร” ได้รับคัดเลือกให้เป็น “success case” โดยมีผู้ประกอบการที่ให้ความสนใจในนวัตกรรมดังกล่าว จำนวน 2 ราย คือ บริษัท วิสดอม เชนโซลูชั่น จำกัด และ บริษัท เคเอส อะโกร จำกัด เพื่อนำมาพัฒนาและต่อยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การผลิตในภาคอุตสาหกรรม คาดการณ์แผนการลงทุน 3 ล้านบาท และมูลค่าเพิ่มจากการนำนวัตกรรมนี้ออกสู่ตลาด 6.5 ล้านบาท ตั้งเป้าในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้งแบบ B2B (บริษัทที่มีกระบวนการบำบัดน้ำเสีย การนิคมอุตสาหกรรม) และ B2G (การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมอนามัย กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น)
นอกจากนี้ ดร.วีรกัญญา ยังได้เข้าร่วมกิจกรรมเสวนา Next Step นวัตกรรมกับการพัฒนาต่อยอดเชิงอุตสาหกรรม ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกเป็น success case จำนวน 3 ราย โดยหนึ่งในผู้ประกอบการ คือ บริษัท วิสดอมเชน โซลูชั่น จำกัด ที่มีความสนใจเซ็นเซอร์ตรวจวัดการปนเปื้อนโลหะในน้ำ ซึ่งเล็งเห็นว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีศักยภาพ และเห็นโอกาสที่จะนำไปใช้ประโยชน์เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานของระบบน้ำในทั้งในเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐ ซึ่งเป็นตลาดค่อนข้างใหญ่ โดยเซ็นเซอร์ตรวจวัดการปนเปื้อนโลหะในน้ำที่ทีม สวทช. พัฒนาขึ้นนี้ (ชุดตรวจหาแมงกานีส ทองแดง และฟลูออไรด์ ในน้ำ) ถือเป็นผลงานวิจัยโดยนักวิจัยไทยที่มีประสิทธิภาพเทียบเคียงกับสินค้านำเข้า เน้นการใช้งานง่าย อ่านผลได้ใน 1 นาที ณ จุดทดสอบ สามารถส่งข้อมูล Realtime ผ่านระบบคลาวด์ (Cloud) ทำงานออนไลน์ และออฟไลน์ได้ เหมาะกับการใช้งานในภาคสนาม แต่ราคาถูกกว่าตลาดนำเข้าและที่จำหน่ายในตลาดทั่วไปถึง 3 เท่า อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องพัฒนาต่อร่วมกับผู้ประกอบการคือ การสร้างการยอมรับ และการขอรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ การทดสอบประสิทธิภาพและความสามารถในตรวจวัดตัวอย่างน้ำอื่นๆ เพิ่มเติม ตลอดจนการส่งเสริมในเชิงนโยบายการบริหารจัดการคุณภาพน้ำ และการลงพื้นที่เพื่อสื่อสารกับผู้ใช้ (users) ในการหาโอกาสทางการตลาดให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งบริษัทฯ ที่จะจับมือกับนักวิจัยต่อยอดด้วยการขอรับการสนับสนุนจากแหล่งทุนภายนอก อาทิ TED Fund, ITAP, PMUC และ NIA เป็นต้น นอกจากนี้ ดร.วีรกัญญา ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยต้องขับเคลื่อนด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงการมีโครงการส่งเสริมการต่อยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการ Research Connect ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ริเริ่มขึ้น นับเป็นการเชื่อมต่องานวิจัยไปสู่ผู้ประกอบการได้โดยตรง ซึ่งช่วยสร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับประเทศ และหนุนเสริมผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ไปสู่ตลาด พร้อมทั้งขอขอบคุณการสนับสนุนงบประมาณวิจัยที่ผ่านมาของแหล่งทุน ได้แก่ แผนบูรณาการพัฒนาภาคเกษตรในพื้นที่ EEC, วช, สวก. บพค.และ บพท. รวมถึงหน่วยงานพันธมิตรร่วมวิจัย ได้แก่ การประปาส่วนภูมิภาค ที่ได้สนับสนุนทุนวิจัยในช่วงต้นน้ำและการวิจัยภาคสนาม จนสามารถพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมขยายผล
ที่มาข้อมูล: ฝ่ายธุรกิจนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี
เรียบเรียง: งานนโยบาย แผน และกลยุทธ์