เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต จังหวัดปทุมธานี - กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และเครือข่ายพันธมิตร จัดการประชุมสัมมนาและระดมสมองแนวทางการจัดตั้งเครือข่ายพันธมิตร ด้านการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอนแห่งประเทศไทย (Thailand CCUS Alliance, TCCA) ขับเคลื่อนการสร้างระบบและกลไกการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งในรูปแบบภาคีเครือข่าย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ด้าน Carbon capture, utilization and storage (CCUS) ของประเทศ โดยได้รับเกียรติจาก ศ. ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และประธานกรรมการบริหารศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และ ดร. วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. กล่าวเปิดงาน ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 200 คน ทั้งจากภาครัฐ หน่วยงานด้านนโยบาย มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และภาคเอกชน
ศ. ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และประธานกรรมการบริหารศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า ในนามของผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของการจัดตั้งเครือข่ายพันธมิตร ด้านการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอนแห่งประเทศไทย เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเทคโนโลยี CCUS อย่างเป็นรูปธรรม และเห็นถึงความทุ่มเทตั้งใจของทุกภาคส่วนในงานนี้
“สภาวะโลกร้อน หรือ โลกรวน โดยสาเหตุสำคัญมาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ สร้างผลกระทบให้กับเราทุกคน หลายประเทศให้ความสำคัญถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และเรียกร้องให้ทั่วโลกร่วมมือกันอย่างจริงจังในการลดการปลดปล่อยก๊าซก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมทั้งกำหนดเป้าหมายในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกของทั่วโลก ไทยก็เช่นกัน มีการกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และประกาศไว้ในเวทีระดับโลก หรือ COP26 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 โดยนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเจตนารมณ์ ประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon neutrality ภายในค.ศ. 2050 และมุ่งสู่ เรือนNet Zero Emission ภายในปี ค.ศ. 2065 ภายใต้กลไกการสนับสนุน” ศ. ดร. ศุภชัยกล่าว
การจะพิชิตเป้าหมายที่ท้าทายนี้ รองปลัด อว. ชี้ว่า จำเป็นต้องอาศัยการพัฒนาเชิงเทคโนโลยีและนโยบายอย่างเป็นระบบ เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในการส่งเสริมนโยบายดังกล่าว และหนึ่งในเทคโนโลยีที่จะเป็นกลไกสำคัญในการจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้แก่ เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization, and Storage: CCUS) ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก เนื่องจากเทคโนโลยีดังกล่าววยังเป็นเรื่องใหม่ ประกอบกับความท้าทายทั้งในเชิงเศรษฐศาสตร์ นโยบายที่เกี่ยวข้อง และความพร้อมของเทคโนโลยี จึงจำเป็นที่จะต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ ในระบบนิเวศวิจัยและใช้ประโยชน์นวัตกรรม เพื่อให้เกิดการนำเทคโนโลยี CCUS มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศได้ทันเวลา และสามารถเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยี CCUS ของประเทศไทย ซึ่งเครือข่าย TCCA ที่จะเกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในวันนี้ จะเสริมความเข้มแข็งของประเทศไทยต่อไป
ดร. วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. กล่าวว่า การประชุมสัมมนาและระดมสมองในวันนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญ ภายใต้โครงการ “การจัดตั้งเครือข่ายพันธมิตร ด้านการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอนแห่งประเทศไทย หรือ Establishment of Thailand Carbon Capture Utilization and Storage Alliance (TCCA)” ซึ่งนาโนเทค สวทช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเครือข่ายพันธมิตร โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เป็นการต่อยอดโครงการ CCUS TRM ของทีมวิจัย ที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว.
“การประชุมในวันนี้ มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อระดมสมองให้เกิดการสร้างฐานความร่วมมือที่เข้มแข็ง ระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันวิจัย และสถาบันการศึกษา ที่มีพันธกิจร่วมในการขับเคลื่อนเทคโนโลยี CCUS ในทุกมิติ โดยผลสัมฤทธิ์ของ TCCA จะนำไปสู่การจัดตั้งกลุ่มพันธมิตร เพื่อพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCUS อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศไทย เราคาดหวังให้กิจกรรมในวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่จะเป็นส่วนสำคัญให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ สาระและข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อการจัดตั้งเครือข่ายพันธมิตร ด้านการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอนแห่งประเทศไทย เปิดโอกาสในการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ ตลอดจนเกิดการสร้างเครือข่ายพันธมิตรด้านเทคโนโลยี CCUS ของประเทศไทยอย่างแท้จริง” ดร. วรรณีชี้
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการวิจัยและพัฒนาทั้งในและต่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี นโยบาย และแนวทางการขับเคลื่อน CCUS ของประเทศไทย รวมถึงทิศทาง แนวโน้ม และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในระดับโลก
พร้อมเปิดเวทีอภิปราย แลกเปลี่ยนความรู้ในการเสวนา หัวข้อ “การขับเคลื่อน CCUS สู่อุตสาหกรรมในประเทศไทย” โดยผู้ทรงคุณวุฒิในหลายสาขาวิชาชีพ และในช่วงท้าย เป็นการแนะนำโครงการและแผนงานโครงการ TCCA ที่เกี่ยวกับโครงสร้าง TCCA และแนวทางการดำเนินงาน แผนงานกรณีศึกษาสำหรับจัดทำ CCUS Policy Recommendation และแผนงานจัดทำ CCUS Database ของประเทศไทย (https://tcca.nstda.or.th) ก่อนจะเปิดเวทีระดมความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อนำไปพัฒนาและเสริมศักยภาพโครงการ TCCA ให้เกิดขึ้นและแข็งแกร่งต่อไป