วันที่ 27 สิงหาคม 2567 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุม SD-601 ชั้น 6 อาคารสราญวิทย์ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี – สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร ภายใต้โครงการการจัดตั้งเครือข่ายพันธมิตรด้านการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอนแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มหน่วยงานภาคการศึกษา ทั้งแบบรูปออนไซต์และออนไลน์ โดยมีผู้เข้าจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยทั่วประเทศรวม 12 หน่วยงาน จำนวน 70 คน
ภายในงาน ได้รับเกียรติจาก ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะรองผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม และ ศ.ดร.ศิวพร มีจู สมิธ รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ให้เกียรติกล่าวเปิดงานและกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม ตามลำดับ ภายใต้การดำเนินกิจกรรม ได้รับเกียรติจาก ศ. ดร.วรงค์ ปวราจารย์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหน้าที่ประธานดำเนินรายการ โดยมี ดร.ขจรศักดิ์ เฟื่องนวกิจ หัวหน้าโครงการ และผู้แทนคณะทำงานฯ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. นำเสนอข้อมูลโครงการ TCCA ให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบ และให้ข้อเสนอแนะ
กิจกรรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนและกำหนดแนวทางของ TCCA ในภาคการศึกษาวิจัยและรวบรวมข้อมูลเชิงลึกของหน่วยงาน ด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ CCUS เพื่อขับเคลื่อน TCCA ภายใต้เป้าหมายหลัก คือ การนำไปสู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCUS ตอบโจทย์ภาครัฐ ภาคเอกชน สู่เป้าหมาย Carbon neutrality และ Net zero ของประเทศไทย
การประชุมประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ มีการนำเสนอข้อมูลการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ CCUS โดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งด้านการวิจัยพัฒนา อาทิเช่น CO2 capture material synthesis, Porus carbon for CO2 capture & Separation และ MOF-based materials derived from plastics & industrial waste เป็นต้น การพัฒนากำลังคน และการสร้างเครือข่ายวิจัยทั้งภายใน และต่างประเทศ ตลอดจนโอกาสในการร่วมขับเคลื่อนเครือข่าย TCCA และความต้องการให้เครือข่าย TCCA ส่งเสริมหรือสนับสนุนการดำเนินงาน รวมทั้งความต้องการการสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้าน Simulation
จากการประชุม มีข้อสรุปสำคัญเพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนเครือข่าย TCCA ได้แก่ การสร้างความเชื่อมโยงการดำเนินงานและความต้องการ จากข้อมูลการประชุม Focus Group ทั้ง 3 กลุ่ม (หน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษาและภาคเอกชน) การวางแผนเสนอผู้แทนด้านเทคโนโลยี CCUS ในแต่กลุ่มเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการร่วมประชุมและทำงานร่วมกัน
ทั้งนี้ คณะทำงานโครงการมีแผนจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) สำหรับหน่วยงานภาคเอกชนและการประชุม Focus Group ร่วมกันทั้ง 3 กลุ่ม (หน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน) เพื่อรวบรวมข้อมูลสำคัญและข้อคิดเห็นให้ครอบคลุมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานรวมทั้งวางแผนการลงนามความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายใต้โครงการ TCCA เพื่อส่งมอบผลงานให้ได้ตามเป้าหมายของโครงการ ในลำดับต่อไป