6 กันยายน 2566 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1) ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2) มหาวิทยาลัยมหิดล 3) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 5) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย 6) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 7) บริษัท ซีดีไอพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และ 8) บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์ และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด (มหาชน) ลงนามบันทึกความเข้าใจพันธมิตรการทดสอบความปลอดภัยและทดสอบประสิทธิภาพประสิทธิผลผลิตภัณฑ์ระดับก่อนคลินิก Thailand OECD GLP/Non-OECD GLP Preclinical Testing Network (TOPT) งานดังกล่าวจัดขึ้นในพิธีเปิดงาน Thailand LAB INTERNATIONAL 2023/Bio Asia Pacific 2023/FutureCHEM INTERNATIONAL 2023 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ ในโอกาสนี้ ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ได้เข้าร่วมพิธีลงนามดังกล่าว โดยมี ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้เกียรติร่วมในพิธีเปิดงานและพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ด้วย เนื้อหาของความร่วมมือในบันทึกความเข้าใจฯ มุ่งเน้นร่วมมือกันเสนอแนวทางการบริการทดสอบระดับก่อนคลินิกเพื่อเชื่อมต่อบริการไปยังการวิจัยคลินิก ตามแนวทาง Contract Research Organization (CRO) และร่วมกันพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของการทดสอบระดับก่อนคลินิกของผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐาน OECD GLP ให้ครอบคลุมทุกขอบข่าย
ทั้งนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS เป็นหน่วยงานกลางในการรับงานและกระจายให้กับเครือข่าย TOPT โดยนาโนเทคเข้าร่วมในเครือข่ายดังกล่าว มุ่งเน้นการทดสอบความปลอดภัยด้วยปลาม้าลาย เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยา สมุนไพร ผลิตภัณฑ์สุขภาพและการแพทย์ตามหลักการ OECD GLP และ non-OECD GLP ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญของทีมวิจัยความปลอดภัยระดับนาโนและฤทธิ์ทางชีวภาพ นาโนเทค
เครือข่าย Thailand OECD-GLP Preclinical Testing Network (TOPT) เกิดจากกลุ่มห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพจากทั่วประเทศ โดยเฉพาะหน่วยงานที่ผ่านการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการตามหลักการ OECD GLP แล้ว ซึ่งประเทศไทยประกาศยอมรับข้อมูลการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ของโปรแกรม Mutual Acceptance of Data – MAD ตามข้อตกลงร่วมระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ เมื่อ 7 กันยายน 2563 ส่งผลให้ประเทศไทยมีข้อมูลความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ เช่น สารเคมีในทางอุตสาหกรรม (Industrial chemicals) เภสัชภัณฑ์ (Pharmaceuticals) ยาฆ่าแมลง (Pesticides) สารฆ่าหรือกำจัดสิ่งมีชีวิต (Biocides) วัตถุเจือปนอาหาร (Food additives) วัตถุเติมในอาหารสัตว์ (Feed additives) และเครื่องสำอาง (Cosmetics) รวมไปถึงเครื่องมือแพทย์ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และผลักดันผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเข้าสู่ตลาดสากล โดยเฉพาะกลุ่มประเทศสมาชิกและสมาชิกสมทบตามโปรแกรม MAD กว่า 45 ประเทศ
ภาพข่าว: ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)