29 ต.ค. 2567 – สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) นำโดย ดร. อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทค, ศ.ดร. ศิวพร มีจู สมิธ รองผู้อำนวยการนาโนเทค พร้อมด้วยทีมวิจัยนาโนเทค เข้าร่วมกิจกรรม โครงการ Research Club (ตลาดนัดวิจัย) ในหัวข้อ “การส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และนาโนเทค สวทช. โดยได้รับเกียรติจาก รศ.นพ. ดิลก ภิยโยทัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ, รศ. พญ. อัจฉรา ตั้งสถาพรพงษ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ร่วมต้อนรับ โดยมีคณาจารย์รวมถึงผู้เกี่ยวข้องต่างๆ เข้าร่วมกิจกรรม
รศ.นพ. ดิลก ภิยโยทัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้ นับเป็นนิมิตรหมายที่ดี งานวิจัยของธรรมศาสตร์เองมีความเข้มแข็งมาก แต่จะเข้มแข็งยิ่งขึ้นเมื่อจับมือร่วมกับหน่วยงานภายนอก โดยเฉพาะนาโนเทค ซึ่งกิจกรรมนี้จะช่วยให้ 2 หน่วยงานแลกเปลี่ยนแนวคิด เพื่อทำการวิจัยร่วมกัน ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงในการร่วมมือกัน แต่ต้องดูว่าจะไปในช่องทางไหน ทั้ง 2 หน่วยงานต้องหารือร่วมกัน
เช่นเดียวกับ รศ. พญ. อัจฉรา ตั้งสถาพรพงษ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มธ. ที่มองว่า จุดมุ่งหมายของกิจกรรมร่วมกันในครั้งนี้ คือความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงาน เนื่องจากปัจจุบัน วิทยาการด้านนาโนมีบาทบาทสำคัญกับการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจวินิจฉัย รักษา เห็นได้จากทั้งวัคซีนโควิด ชุดตรวจ ATK ต่างๆ ที่ใช้นาโนเทคโนโลยีเป็นแกนหลัก ทำให้นาโนเทคโนโลยีเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจสำหรับการวิจัยและพัฒนาด้านการแพทย์และสุขภาพ
ดร. อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทค สวทช. กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่นาโนเทคมาเข้าร่วมกิจกรรมตลาดนัดวิจัยของ มธ. จากการหารือร่วมกันครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา บทบาทของนาโนเทคเราชัดเจนในการต่อยอดงานวิจัยที่มีอยู่ไปในขั้นตอนที่เข้าใกล้หรือสามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงในอนาคตอันใกล้ ความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความเข้มแข็งอย่างโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเป็นพันธมิตรวิจัยที่ทำให้เราจับมือกันก้าวหน้าไปอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ที่สำคัญ เราเป็นเพื่อนบ้านกันมานาน เป็นโอกาสอันดีที่จะจับมือกัน เกิดการทำงานร่วมกันที่ง่ายขึ้น และหวังให้เกิดเป็นกิจกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะการกำหนดหัวข้อเฉพาะทาง
ภายในงาน มีการนำเสนอศักยภาพทางด้านการวิจัยและพัฒนาของนาโนเทค ที่นำเสนอใน 5 ด้าน ได้แก่ Emerging In Vitro Diagnostics (IVD) Innovation for Disease Screening: A Journey from Research to Regulatory Milestones โดย ดร. เดือนเพ็ญ จาปรุง Driver S&T implementation for Sustainable Thailand ชุดตรวจคัดกรองโรคไต และภาวะแทรกซ้อนเบาหวาน, Overview of Responsive materials and nanosensors research group โดย ดร. วีรกัญญา มณีประกรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน, สารสกัดสมุนไพรจากกระบวนการสกัดที่เป็นมิตต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์สำอาง โดย ดร. คมสันต์ สุทธิสินทอง จากทีมวิจัยเกษตรนาโนขั้นสูง กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและกระบวนการนาโน, Microneedle Platform for Medical Application โดย ดร. สุพล มนะเกษตรธาร จากทีมวิจัยระบบหุ่นยนต์และเข็มระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน, Predictive Models for Safety and Efficacy Evaluation โดย ภญ. ดร. ศศิธร เอื้อวิริยะวิทย จากทีมวิจัยความปลอดภัยระดับนาโนและฤทธิ์ทางชีวภาพ กลุ่มวิจัยการวิเคราะห์ระดับนาโนขั้นสูง ความปลอดภัย และสารสนเทศ และ Thammasat Pre-Clinical/Clinical study Facility โดย ศ. ดร. ศิริกุล มะโนจันทร์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม และ รศ. พญ. สุดาทิพย์ โฆสิตะมงคล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางคลินิก ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วม และมีการซักถาม รวมถึงหารือด้านความร่วมมือต่อไป