ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวเปิดการสัมมนาเรื่อง “Carbon Capture and Utilization (CCU) toward Carbon Neutral Economy” ในการประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 17 (NAC2022) ว่า ปัจจุบัน สภาวะโลกร้อน เป็นปัญหาที่สำคัญของโลก สืบเนื่องจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและกิจกรรมของมนุษย์ อย่างไรก็ดี ประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงไทยเราเอง มีความพยายามที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์โดยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ไทยนับเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงสุดในโลก นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศในระหว่างการเข้าร่วมการประชุม COP26 หรือการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ถึงเป้าหมายสำคัญคือประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065
เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization, and Storage: CCUS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญอย่างมากสำหรับโลกปัจจุบันและอนาคต ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ด้วยนอกจากจะช่วยลดการปล่อยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ยังหนุนการใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนคาร์บอนต่ำอีกด้วย
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) มีงานวิจัยที่ก้าวหน้าอย่างมากด้าน CCU จากกลุ่มวิจัยการเร่งปฏิกิริยาและการคำนวณระดับนาโน (NCAS) รวมถึงความร่วมมือจากพันธมิตร ทั้งภาคการศึกษา วิจัย และเอกชน ที่จะร่วมขับเคลื่อนเทคโนโลยีเพื่อโลกอนาคตนี้สู่การใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง โดยหวังว่า การสัมมนาเรื่อง “Carbon Capture and Utilization (CCU) toward Carbon Neutral Economy ” ในการประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 17 (NAC2022) ที่รวมนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ และพันธมิตรที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน จะเป็นแรงผลักดันหนึ่งให้เกิดการพัฒนา และแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างยั่งยืนต่อไป