นาโนเทค สวทช. เปิดบริการทดสอบพิษวิทยาในตัวอ่อนปลาม้าลายที่แรกของไทย

นาโนเทค สวทช. เปิดบริการทดสอบพิษวิทยาในตัวอ่อนปลาม้าลายที่แรกของไทย เตรียมต่อยอดประยุกต์ทดสอบฤทธิ์ยาต้านมะเร็ง ตอบความต้องการทางการแพทย์ นักวิจัยนาโนเทค สวทช. พัฒนาองค์ความรู้ด้านการทดสอบความปลอดภัยและฤทธิ์ทางชีวภาพโดยใช้ตัวอ่อนปลาม้าลายแทนการใช้สัตว์ทดลอง นำร่องให้บริการ 2 วิธีคือ การทดสอบความเป็นพิษแบบเฉียบพลัน และการทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งเม็ดสีเมลานิน รองรับการวิจัยพัฒนายา เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ชูจุดเด่นเรื่องมาตรฐานสากล ใช้เวลาและสารที่ต้องการทดสอบน้อย ค่าใช้จ่ายถูกกว่า เดินหน้าต่อยอดพัฒนาการทดสอบฤทธิ์ต้านการกำเนิดหลอดเลือด สำหรับใช้ทดสอบยาต้านมะเร็ง รวมถึงการทดสอบฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระที่จะเปิดให้บริการในอนาคต ดร.วิทยา พิมทอง นักวิจัยจากทีมวิจัยความปลอดภัยระดับนาโนด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยการวิเคราะห์ระดับนาโนขั้นสูงและความปลอดภัย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ทีมวิจัยฯ มีความเชี่ยวชาญในด้านการวิจัยด้านความปลอดภัยของอนุภาคนาโน สารสมุนไพร สารเคมี รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยในการทดสอบความปลอดภัยต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ทางศูนย์ได้ใช้ปลาม้าลาย (zebrafish) ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Danio rerio เป็นแบบจำลองในการทดสอบ ซึ่งปลาม้าลายเป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration: FDA) ได้แนะนำให้ใช้ปลาม้าลายเป็นต้นแบบในการทดสอบความเป็นพิษและการทดสอบฤทธิ์ยา “ตัวอ่อนปลาม้าลายมีข้อดีต่อการวิจัยเกี่ยวกับพันธุกรรมและพัฒนาการของตัวอ่อนหลายด้าน ไม่ว่าด้านปริมาณ ซึ่งปลาม้าลายตัวเมียที่โตเต็มวัยหนึ่งตัวสามารถให้ไข่ได้มากถึง […]