สวทช. – กฟผ. จับมือใช้ “ระบบตรวจวัดและจำแนกแหล่งกำเนิด PM2.5” หาต้นตอฝุ่นจิ๋ว
ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีปริมาณสูงจนเกินค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยที่มักเกิดในช่วงเดือนมกราคม –เมษายนของทุกปี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยโดยโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จับมือนักวิจัย สวทช. โดยนาโนเทค พัฒนาระบบตรวจวัดและจำแนกแหล่งกำเนิด PM2.5 สืบหาต้นตอฝุ่น PM2.5 ในจังหวัดลำปาง พร้อมแอปพลิเคชันแสดงผลค่า PM2.5 แบบจำแนกสัดส่วนของแหล่งกำเนิด และดัชนีคุณภาพอากาศแบบ Real Time ปูทางสู่ฐานข้อมูลเพื่อบริหารจัดการลดการเกิดฝุ่นละอองในสิ่งแวดล้อม และแนะมาตรการป้องกันและแก้ไขการเกิดฝุ่น PM2.5 ได้ในอนาคต ดร. รุ่งโรจน์ เมาลานนท์ ทีมวิจัยวิศวกรรมกระบวนการและระบบตรวจติดตาม กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า โครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาระบบจำแนกตรวจติดตามฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และมลภาวะทางอากาศ” เป็นโจทย์จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยโดยโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ที่ต้องการศึกษาแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จึงต่อยอด “E-nose” หรือ “จมูกอิเล็กทรอนิกส์”สู่ “ระบบต้นแบบสำหรับตรวจวัดและจำแนก PM2.5 ที่สามารถจำแนกตรวจติดตามฝุ่นละอองขนาดเล็กและมลภาวะทางอากาศ” ระบบจำแนกตรวจติดตามฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และมลภาวะทางอากาศนี้ อาศัยหลักการวิเคราะห์ทางด้านวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการ เพื่อศึกษาองค์ประกอบในฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน […]